เขตอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสุขภาพภาคเหนือ
The Northern Industry, Agro-industry, Food and Health Zone

ที่มาและความสำคัญ

  ระบบการเกษตรอุตสาหกรรมสามารถสร้างผลผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และการมีใช้สารเคมีจำนวนมาก ล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดการปนเปื้อนมลพิษที่อันตรายต่อสุขภาพ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรรรายย่อยเป็นระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่ ต่างทำให้คุณภาพดินเสื่อมถอย ขาดความหลากหลายของพันธุ์พืช ลดความสามารถในการฟื้นตัวเมื่อเจอภัยแล้ง โรค และศัตรูพืช ทั้งยังทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร แรงงานในภาคเกษตร รวมถึงสังคมชนบทเปลี่ยนไป แนวโน้มการทำเกษตรในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตอาหารทางเลือกที่มีความยั่งยืนมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในระยะยาวได้ รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยและอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร คือ นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (The 7th APEC Food Security Ministerial Meeting) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหารและผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก มุ่งส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญอย่างครบวงจรกับคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหารตลอดจนคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรใน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตร 2) เกษตรปลอดภัย มุ่งเน้นพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล 3) เกษตรชีวภาพ ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการเกษตร 4) เกษตรแปรรูป โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรขั้นต้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และ 5) เกษตรอัจฉริยะโดยการนำเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตและปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ และรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อจัดทำออกแบบผังเมืองพัฒนาเขตอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสุขภาพภาคเหนือ
  2. เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการลงทุนเขตอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และ สุขภาพของวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และนักลงทุนต่างชาติ ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่มีความมั่นคง
  3. เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม ผลผลิตการเกษตร อาหาร และสุขภาพครบวงจรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
  4. เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
  5. เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสถาบัน R&D ถ่ายทอดองค์ความรู้และผลงานวิจัยพัฒนา ต่อยอดเชิงพาณิชย์
  6. เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม บริการขนส่ง และเครือข่ายโลจิสติกส์
  7. เพื่อส่งเสริมการผลิตอาหารอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพสู่ตลาดโลก เป็นการการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)

  • เกษตรกร, ผู้ประกอบการ, วิสาหกิจชุมชน ตัวกลางทางการเกษตร เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Supply chain ด้านการเกษตร
  • หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการและนักลงทุนในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน

ระยะเวลาในการดำเนินงาน : 5 ปี

งบประมาณ : 10,000 ล้านบาท