มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม (T3)

 ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคโดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับปัจจัยความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกระแสการท่องเที่ยวของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม ประกอบไปด้วยแผนงาน ดังนี้

แผนงานที่ 1

สร้างข้อตกลงด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (T3.1)

ส่งเสริมให้เกิดการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมและการให้บริการด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค สนับสนุนการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่มีให้เกิดมูลค่าสูงสุดเพื่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยไม่สร้างผลกระทบ

แผนงานที่ 2

สร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคชุมชน (T3.2)

สร้างความร่วมมือเชื่อมโยงกันระหว่างธุรกิจการท่องเที่ยวกับท้องถิ่นและประชาชนในชุมชน สนับสนุนการริเริ่มให้ชุมชนประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนชุมชน ร่วมกันออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวที่สามารถสัมผัสประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมอย่างแท้จริงผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้เงื่อนไขการโดยรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม ให้การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการบริการการท่องเที่ยวรวมถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจในท้องถิ่น

แผนงานที่ 3

นำเสนอการท่องเที่ยวเกษตรเชิงประสบการณ์ (T3.3)

นำเสนอแผนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อการศึกษา ตลอดจนการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนเชิงเกษตร เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการทำเกษตรอย่างครอบคลุม สัมผัสประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการเกษตรที่ยั่งยืน โดยกระจายโปรแกรมการท่องเที่ยวให้ทั่วถึง และมุ่งสนับสนุนการเกษตรท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนและการท่องเที่ยวแบบสัมผัสประสบการณ์ เช่น ฟาร์มสเตย์ (Farm Stay)

แผนงานที่ 4

สร้างแนวทางการปฏิบัติที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม (T3.4)

กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการบริหารจัดการชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการจัดการอย่างยั่งยืนที่กลายมาเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกไม่ว่าจะเป็น การวางแผนผังมือง  เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินและความหนาแน่นของประชากรไม่ให้การท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กระบวนการจัดการขยะ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาฝุ่นควัน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความนิยมในการท่องเที่ยวยุคใหม่ และช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น

แผนงานที่ 5

สร้างนักท่องเที่ยวยั่งยืน (T3.5)

ส่งเสริมการสร้างแนวทางการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านความร่วมมือไปยังนักท่องเที่ยว ในการสร้างการรับรู้และความตระหนักในการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในวิถีชุมชน การสนับสนุนสินค้าและบริการจากทุนของท้องถิ่น  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันจากทั้งภาคอุปสงค์และภาคอุปทานของอุตสาหกรรมเพื่อให้การขับเคลื่อนความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

แนวทาง

เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงต้องประกอบไปด้วย 4 แนวทาง มีรายละเอียดดังนี้

แนวทางที่ 1

เป็นจุดหมายของการดูแลสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชีย (T1)

แนวทางที่ 2

เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงมรดก (T2)

แนวทางที่ 3

มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม (T3)

แนวทางที่ 4

เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ MICE (T4)