สายมู-ยูเอฟโอ-พลังจิต เหลือเชื่อแค่ไหนก็เป็นวิทยาศาสตร์ได้ ถ้ารู้จัก ‘วิทย์เทียม’

สายมู-ยูเอฟโอ-พลังจิต 

เหลือเชื่อแค่ไหนก็เป็นวิทยาศาสตร์ได้ ถ้ารู้จัก ‘วิทย์เทียม’

______________

⠀⠀⠀เรามักจะได้ยินคำปรามาสว่า โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ การใช้พลังจิตรักษาโรค หรือแม้กระทั่งองค์ความรู้ยุคใหม่อย่างเรื่อง UFO เหล่านี้ล้วนตั้งอยู่บนความเชื่อ ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย แต่ช้าก่อน ถ้าเรากำลังจะบอกว่าทฤษฎีความเชื่อเหล่านี้ ก็นับเป็นวิทยาศาสตร์ในกลุ่ม ‘วิทยาศาสตร์เทียม’ ล่ะ? 

.

.

 ว่าด้วยเรื่อง ‘วิทย์ฯเทียม-วิทย์ฯแท้’

⠀⠀⠀Pseudoscience หรือ วิทยาศาสตร์เทียม  ที่ว่านี้ คือ ศาสตร์ความรู้ใด ๆ ก็ตามที่พยายามกล่าวอ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์ มีหลักการและทฤษฎีเป็นของตัวเอง แต่ไม่ผ่านการพิสูจน์ผ่านกระบวนการตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่างจาก Genuine Science หรือ วิทยาศาสตร์แท้  ที่ตั้งอยู่บนหลักการของความเป็นวิทยาศาสตร์ ยึดมั่นอยู่กับหลักการของความเป็นเหตุและผล และสามารถตรวจสอบหรือทดสอบได้เสมอ ทั้งทางตรงและทางอ้อมตามหลักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

เรียกง่าย ๆ ว่า สิ่งใดที่คล้าย ๆ จะเป็นวิทยาศาสตร์ แต่มีความคลุมเครือ และยังหาหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ตามหลักทางวิทยาศาสตร์อย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่ได้ นับเป็นวิทยาศาสตร์เทียมทั้งสิ้น โดยชื่อ Pseudoscience ถูกใช้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 มาจากการสมาสกันของคำว่า Pseudo ในภาษาละตินแปลว่า ไม่จริง และคำว่า science ที่หมายถึงวิทยาศาสตร์นั่นเอง 

.

.

 วิทย์ฯแท้-แท้แค่ไหน วิทย์ฯเทียม-เทียมอย่างไร

⠀⠀⠀แน่นอนว่าข้อสงสัยที่ตามมาคือ ‘แล้วเราจะแยก วิทย์ฯเทียม-วิทย์ฯแท้ ออกจากกันได้อย่างไร?’ คำถามนี้ได้รับการตอบโดยคาร์ล ป๊อปเปอร์ (Karl Popper) นักปรัชญาวิทยาศาสตร์และอาจารย์ ผู้ซึ่งพยายามตีเส้นระหว่างวิทย์ฯเทียม-วิทย์ฯแท้ และพบว่าวิทยาศาสตร์เทียม คือ การพยายามหาหลักฐานเพื่อมายืนยันหรือสนับสนุนในสิ่งที่กล่าวอ้างว่าถูกต้อง (confirmation) 

ยกตัวอย่าง หินคริสตัลปรับสมดุลพลังงานชีวิต โดยผู้ที่เชื่อในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่มักยกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาอ้างประกอบว่า ในหินเหล่านี้มีแร่ธาตุและสนามแม่เหล็กที่มีคุณสมบัติในการรักษาและปรับสมดุลพลังงานของร่างกายได้ ซึ่งถึงแม้ผู้ที่ใช้งานหินเหล่านี้จะมีสุขภาพกายหรือใจดีขึ้นได้จริง แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่า สุขภาพที่ดีขึ้นนั้น เกิดจากการสัมผัสพลังงานจากหินจริง ๆ หรือไม่ 

⠀⠀⠀ขณะที่วิทยาศาสตร์แท้นั้น คือการพยายามท้าทายตัวเองและหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าสมมติฐานนั้นผิดอยู่เสมอ (falsification) ยกตัวอย่าง กฎความโน้มถ่วงของนิวตัน ที่เคยเชื่อว่าสามารถอธิบายการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ได้ทั้งหมด จนถูกพิสูจน์พบว่าไม่สามารถอธิบายการโคจรของดาวพุธได้ จึงเกิดเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ซึ่งสามารถอธิบายข้อจำกัดนี้ โดยทฤษฎีดังกล่าวถูกทดสอบจากนักวิทย์ฯรุ่นใหม่หลายครั้ง และบ่งชี้ว่ามันยังคงมีความถูกต้องแม่นยำอยู่จนถึงปัจจุบัน

.

.

 เหลือเชื่อแค่ไหนถึงนับเป็น ‘วิทย์ฯเทียม’

⠀⠀⠀เราอาจเข้าใจว่า วิทยาศาสตร์เทียม ต้องเป็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อจนเกิดข้อกังขาในทฤษฎีหรือองค์ความรู้เหล่านั้นได้ง่าย แต่ความจริงแล้ว มีวิทย์ฯเทียมหลายอย่างที่ก้ำกึ่งกับการเป็นวิทย์ฯแท้เสียจนบางทีเราก็นึกไม่ถึงเช่นกัน อาทิ 

ทฤษฎีทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือด โดยเชื่อว่าส่วนประกอบของเลือดในแต่ละกรุ๊ป ส่งผลไปยังบุคลิกภาพและการใช้ชีวิตของคน ซึ่งการวิจัยหลายชิ้นก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่พบการเชื่อมโยงกันของกรุ๊ปเลือดกับบุคลิกภาพแต่อย่างใด มองว่าเป็นหลักการทางสถิติมากกว่า สิ่งที่กรุ๊ปเลือดส่งผลกับคนเราจริง ๆ คือลักษณะของสุขภาพตามแต่ละกรุ๊ปที่แตกต่างกันต่างหาก

การรักษาโดยการใช้ครอบแก้ว ฝังเข็ม การนวดกดจุด รวมถึงการแพทย์ทางเลือกแขนงต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเป็นวิถีการรักษาแบบดั้งเดิมในบางวัฒนธรรม แต่ข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์นั้นยังถือว่ามีน้อยมากในการนำมาใช้สนับสนุน

หรือแม้กระทั่งความเข้าใจในเรื่องวิกฤต Climate Change ที่เป็นองค์ความรู้ได้รับการพิสูจน์ต่อเนื่องตามกระบวนการวิทย์ฯแท้ แต่ก็มักถูกนำมาโยงเพื่อใช้สนับสนุนความเชื่อในเรื่องทฤษฎีโลกแตก ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น จนสามารถสร้างความเข้าใจผิดได้ในวงกว้าง ซึ่งเอาเข้าจริงก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ไหนที่ตอบได้ว่า Climate Change จะเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์โลกแตกได้จริง ๆ 

.

.

 ผิดไหม ถ้าจะเชื่อใน ‘วิทย์ฯเทียม’

⠀⠀⠀วิทย์ฯเทียมส่วนใหญ่มักผูกติดอยู่กับความเชื่อ ซึ่งส่งผลต่อความชื่นชอบ ความสุข ความสบายใจของผู้ที่เชื่อในทฤษฎีเหล่านั้น บางอย่างก็ไม่ใช่การบ่อนทำลาย จึงไม่ใช่เรื่องผิดเลยหากเราจะเชื่อสิ่งที่หมอดูทัก จะเดินสายมู หรือจะค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา 

แต่ก็มีวิทย์ฯเทียมไม่น้อยที่สร้างผลกระทบร้ายแรงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรักษาโรคด้วยวิธีแปลก ๆ ที่อาจจะไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โรคก็สามารถลุกลามต่อไปทำให้สายเกินกาล หรือที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา คือกระแสของลัทธิการต่อต้านวัคซีน หรือ Anti-vax โดยพวกเขาเชื่ออย่างหนักแน่นว่า วัคซีนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เกิดความเจ็บป่วยตามมา ไปไกลจนถึงเชื่อว่าเป็นการฝังเครื่องตรวจจับสอดแนมของรัฐบาล และปฏิบัติเสธการฉีดวัคซีน สร้างความเดือดร้อนอย่างยิ่งให้คนในสังคมโลกเลยทีเดียว 

.

.

⠀⠀⠀แม้จะมีความพยายามในการขีดเส้นแบ่งระหว่าง วิทย์ฯเทียม-วิทย์ฯแท้ ให้ชัดเจน แต่ดูเหมือนพรมแดนนี้จะเลือนรางมากขึ้นทุกที เมื่อหลักฐานแต่ละชิ้นที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ก็ทำให้เราค้นพบความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากมาย ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง สิ่งที่เคยถูกแปะป้ายว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันอย่าง UFO ก็อาจถูกพิสูจน์ความจริงจนสามารถย้ายกลุ่มเข้ามาร่วมฝั่งวิทย์ฯแท้ก็เป็นได้ 

⠀⠀⠀ใครมีตัวอย่างวิทย์ฯเทียมสนุก ๆ อะไรบ้าง มาแชร์กันได้ที่คอมเมนต์ด้านล่างเลย 

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #Pseudoscience #วิทยาศาสตร์เทียม 


ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก

https://www.salika.co/2021/10/30/pseudo-science/

https://il.mahidol.ac.th/th/i-learning-clinic/general-articles/วิทยาศาสตร์เทียมคืออะไ/