เปลี่ยนไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์ ใน 3 ขั้นตอนด้วย LEAN STARTUP

เปลี่ยนไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์ 

ใน 3 ขั้นตอนด้วย LEAN STARTUP 

_____________

สตาร์ทอัพมือใหม่ที่เริ่มเห็นความชัดเจนของไอเดียธุรกิจแล้ว ความท้าทายต่อมาก็คือ #การเปลี่ยนไอเดียที่ว่านี้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อพูดถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ ทุกคนมักจะจดจ่อกับการทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเองออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง การมีฟังก์ชันที่ครบ มีฟีเจอร์ใช้งานได้เยอะ ไปจนถึงรูปลักษณ์ที่สวยงาม หากไม่ได้ตามมาตรฐานนี้ก็จะไม่ยอมปล่อยสินค้าออกไป ซึ่งกว่าจะทำให้ได้ตามความคาดหวังเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลานาน ทำให้สูญเสียทรัพยากรและเวลาโดยไม่จำเป็น 

LeanStartup จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเปลี่ยนโฟกัสจากการมุ่งแต่จะทำผลิตภัณฑ์ให้ดีและสมบูรณ์แบบในคราวเดียว เป็นการดึงเฉพาะสิ่งที่จำเป็นออกมาสร้างก่อน แล้วนำไปวัดผลกับกลุ่มเป้าหมายทันที จากนั้นจึงนำความคิดเห็นที่ได้มาแก้ไข เพื่อความรวดเร็ว ประหยัด และสะดวกต่อการปรับปรุงหรือนำไปพัฒนาต่อได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่งกระบวนการนี้จะตอบโจทย์กับการเติบโตของ Startup ได้มากกว่า

Lean Startup มีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน นั่นคือ สร้าง (Build) วัดผล (Measure) และเรียนรู้ (Learn) โดยเราจะทำตามกระบวนการนี้เป็นวงจรวนลูป (Loop) ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์และตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด มาดูกันว่าแต่ละขั้นตอนนั้น มีรายละเอียดอะไรบ้าง 

.

.

Build – ทุกอย่างเริ่มต้นได้ด้วย ‘การสร้าง’

ขั้นตอนนี้ คือการนำไอเดียที่เราได้มากจากปัญหาหรือความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือที่เรียกว่า ‘Prototype’ ซึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบนี้ ยังไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบครบสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เลือกสร้างขึ้นมาโดยจะใช้หลักการ MVP (Minimum Viable Product) นั่นคือ ให้เลือกเอาสิ่งที่จำเป็น หรือสิ่งที่คิดว่าใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่สามารถใช้งานและสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าได้ นำออกมาสร้างก่อน เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสินค้าทดลองที่พอจะใช้งานได้จริง ซึ่งจะช่วยเอื้อในเรื่องของความรวดเร็วในการสร้าง การประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถปล่อยออกสู่สาธารณะได้เร็วที่สุด

วิธีง่าย ๆ คือการลิสต์ สิ่งที่เราอยากจะใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกมา แล้วลองไล่ดูว่าอันไหนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องมี และสามารถสร้างได้อย่างรวดเร็ว ส่วนสิ่งที่ไหนทำได้ยากและยังไม่จำเป็นให้เก็บเอาไว้ก่อน เพราะบางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้นำออกมาใช้เลยก็ได้ เมื่อหลังจากนำผลิตภัณฑ์ออกไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว จะทำให้เราเห็นแนวทางจากผลตอบรับมากขึ้นว่าควรจะปรับปรุงในส่วนไหน ถึงตอนนั้นค่อยเพิ่มในส่วนที่เราต้องการเข้าไปทีละอย่างก็ย่อมได้

.

.

Measure – ลอง ‘วัดผล’ กับกลุ่มเป้าหมายดูก่อน

เมื่อเราได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบแล้ว ก็ถึงเวลาปล่อยออกสู่ตลาดให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองใช้เพื่อดูผลตอบรับ ซึ่งคำตอบเพียงแค่ ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ อาจไม่เพียงพอต่อการใช้เป็นข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ 

เราจึงจำเป็นต้องสร้างกำหนดตัวชี้วัดอย่างมีหลักการชัดเจน ตั้งแต่การเลือกกลุ่มเป้าหมาย จากการคาดเดาว่ากลุ่มคนประมาณนี้น่าจะเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา ไปจนถึงการกำหนดคำถามที่สามารถนำไปเป็นข้อมูลใช้ง่ายได้จริง เช่น มีคนเห็นสินค้ากี่คน มีคนซื้อไหม มีคนใช้งานจริงหรือไม่ คนใช้งานรู้สึกอย่างไรกับสินค้า ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร มีเหตุผลใดประกอบ รวมถึงรวบรวมผลตอบรับ (Feedback) และความคิดเห็นอื่น ๆ จากลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราต่อไป

โดยวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ที่ได้ผลดีที่สุด คือการเข้าไปสอบถามพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อมูลที่มากกว่าสิ่งที่เขาพูด ทั้งจากท่าทีและสีหน้าประกอบ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาอาจจะตรงกับสิ่งที่เราคิดในตอนต้น หรืออาจจะไม่ตรงกันเลยก็เป็นไปได้ 

.

.

 Learn – ‘เรียนรู้’ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา

หลังจากการวัดผล ให้เรานำข้อมูลทั้งหมดนั้นมาวิเคราะห์และสรุปผล โดยมองหาว่าส่วนไหนของสินค้าหรือบริการที่ผลตอบรับดี ก็ให้คงไว้หรือทำต่อไป ส่วนอะไรที่ไม่ถูกใช้งาน หรือผลตอบรับไม่ดี ก็ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปใช้รูปแบบอื่น แล้วใช้ข้อสรุปนี้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป 

จากนั้นจึงวนกลับไปที่ขั้นตอนของ ‘การสร้าง’ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ 2 จากนั้นนำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายและเก็บข้อมูลอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าการปรับปรุงตามฟีดแบคนี้ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าจริงหรือไม่ หากเป็นจริง ก็ถือว่าเราได้ผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มว่าจะวางขายจริงได้สำเร็จแล้ว แต่ถ้าหากผลิตภัณฑ์ยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเท่าที่คิดหรือมีฟีดแบคใหม่ ๆ กลับมา ก็จะกลับเข้าสู่ขั้นตอนของการ ‘เรียนรู้’ ใหม่ เพื่อการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น แล้วจึงมาเข้าสู่กระบวนการ ‘สร้าง’ ‘วัดผล’ และ ‘เรียนรู้’ อีกครั้ง

.

.

จะเห็นได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์โดยใช้ Lean Startup นั้น เป็นเทคนิคที่ช่วยการตัด-ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกไป และเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่คำนึงและนึกถึงผู้ใช้งานมาก่อน ดังนั้นสตาร์ทอัพจึงควรออกไปค้นหาข้อมูลความสนใจ ความต้องการของลูกค้า โดยการพบปะพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด เพราะนอกจากจะได้เข้าใจลูกค้าแล้ว เราอาจจะได้มุมมอง หรือข้อมูลใหม่ ๆ มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย 


ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก

https://techsauce.co/tech-and-biz/lean-startup-introduction

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/lean-startup/

https://medium.com/@manchavayot/บทสรุป-lean-startup-ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่-ต้องสร้างตอนไม่พร้อม-d99a3ba2589