_____________
“สวัสดีครับ/ค่ะ พี่แจ็ค เรื่องมันเริ่มมาจาก...”
⠀⠀⠀ประโยคเปิดเรื่องแสนคุ้นเคยสำหรับคอฟังเรื่องสยองขวัญ ที่ถ้าเริ่มได้ยินเมื่อไหร่ ความสนใจของเราก็จะถูกดูดให้ไปจดจ่อยังเรื่องเล่าเหล่านั้นทันทีอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เพียงแค่รายการขึ้นชื่อนี้เท่านั้น ปัจจุบันมีรายการเรื่องเล่าสยองขวัญเกิดขึ้นมากมายในหลากหลายแพลตฟอร์ม และได้รับความนิยมด้วยกันทั้งสิ้น เป็นเครื่องการันตีชั้นยอดที่บ่งบอกว่า คนไทยชอบฟังเรื่องผีสุดๆ!
สิ่งที่น่าสนใจตามมาคือ หลายคนที่ชื่นชอบเรื่องผีเป็นชีวิตจิตใจ ส่วนใหญ่กลับ ‘กลัวผี’ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ต้องมองหาที่ไหนไกลเลย สังเกตจากคนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็พอจะตอบได้ว่า ‘เออ จริง’
⠀⠀⠀เอ้า! ถ้ากลัวผี แล้วทำไมยังชอบฟังเรื่องผีอีก? เจ้าความดันทุรังนี้มีที่มาจากไหน ลองมาหาคำตอบไปด้วยกัน
.
.
ทำไมคนเราถึงกลัวผี?
⠀⠀⠀ความกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งของมนุษย์เราจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลที่เป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นน่ากลัวและอันตราย เราจึงจะรู้สึกกลัว
ในกรณีของการกลัวผี สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่ามักเริ่มขึ้นในวัยเด็ก จากการไปรับเอาความรู้สึกที่ว่าผีเป็นสิ่งน่ากลัว อันตราย หรือทำร้ายเราได้ จากการดูการ์ตูนหรือดูหนังที่มีตัวละครหนีการไล่ล่าของผี หรือการขู่ให้เชื่อฟังของผู้ใหญ่ในทำนองที่ว่า ‘ถ้าดื้อมาก ๆ เดี๋ยวผีจะเอาไปนะ’
ในกรณีของบางคนอาจจะพบเจอเหตุการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ ทำให้เขาตีความเอาจากสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมา และเชื่อว่ากำลังเจอผี ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกกลัวขึ้นมาได้
.
.
กลัวผี แต่ทำไมยังชอบฟังเรื่องผี?
⠀⠀⠀ด้วยเอกลักษณ์ของเรื่องผี ที่วิธีการเล่าจะเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์แปลก ๆ เต็มไปด้วยความน่าคืบแคลงใจ จากนั้นจึงไต่ไปจนถึงจุดไคลแม็กซ์ และจบด้วยการเฉลยที่มาที่ไปของเรื่องราวทั้งหมด
ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความลุ้นระทึกให้แก่ผู้ฟังไม่น้อย ส่งผลให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนออกมา รวมถึงไปกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่างคอร์ติซอลให้ทำงาน เกิดเป็นความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อฟังจนถึงจุดคลี่คลายของเรื่องแล้ว เวลานั้นเราจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาทันที ความเครียดจากคอร์ติซอลจะหายไป และถูกแทนที่ด้วยสารแห่งความสุขอย่างโดพามีนและเอ็นโดรฟิน ที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าอาการ ‘ฟิน’ นั่นเอง
.
.
ผีหลอกเขา แต่ทำไมคนฟังอย่างเราถึงกลัวไปด้วย?
⠀⠀⠀Krista Jordan, นักจิตวิทยาจากเท็กซัส กล่าวว่า “สมองของเราไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างจินตนาการและความเป็นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป” ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนมาบรรยายเรื่องการกัดมะนาว และถ้าบุคคลนั้นบรรยายถึงความเปี้ยวของมะนาวได้เก่งจริง ๆ ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกเข็ดฟัน หรือน้ำลายสอขึ้นมาได้ ทำนองเดียวกันกับการฟังเรื่องผี ที่ถ้าหากอีกฝ่ายบรรยายเหตุการณ์ได้เห็นภาพมากเท่าไหร่ ก็ง่ายต่อการที่เราจะจินตนาการภาพตาม และอาจเผลอวางตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่านั้นไปด้วย
.
.
กลัวผีแล้วกระทบการใช้ชีวิตไหม?
⠀⠀⠀ความกลัวผีมีหลายระดับ เด็กบางคนกลัวผีมาก แต่เมื่อโตขึ้นความกลัวก็ลดน้อยถอยลง เนื่องจากเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองกลัวอาจเป็นเพียงแค่การตีความจากสิ่งที่เห็นไปเอง แต่ก็มีอยู่อีกจำนวนหนึ่งเช่นกันที่กลัวผีเอามาก ๆ จนทำให้ฟังเรื่องผีหรือดูหนังผีไม่ได้ รู้สึกขวัญอ่อน ตกใจง่าย นอนหลับยาก ไปจนถึงไม่ชอบอยู่คนเดียวในตอนกลางคืน
การบรรเทาอาการกลัวผีที่กระทบชีวิตประจำวัน ก็คล้ายกับการบรรเทาความกลัวในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องกังวล เพื่อให้ความกลัวเหล่านี้ไม่ส่งผลเสียหรือกระทบชีวิตประจำวันของเรามากจนเกินไป
.
.
⠀⠀⠀แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการใช้วิทยาศาสตร์มาอธิบายความจริงเกี่ยวกับผีมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าเราจะใช้มุมมองแบบไหนมาอธิบายปรากฎการณ์เหล่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสของเรื่อง “ผี” เสียไปเลยแม้แต่น้อย
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก
https://www.wongnai.com/articles/why-we-watch-scary-movies
https://thematter.co/social/7-research-of-thai-ghost/63754