________
เข้าสู่เดือนมิถุนายน ทั่วทุกแห่งหนก็ถูกแต่งแต้มไปด้วยความสดใสของสีรุ้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมกันเฉลิมฉลอง PrideMonth เทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ พร้อมประกาศชัดถึงการสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ
⠀⠀⠀ความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) ที่ว่านี้ เป็นแนวคิดที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้มนุษย์แสดงตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอย่างอิสระ ซึ่งไม่ต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ของสังคม โดยเชื่อว่ามนุษย์สามารถแสดงพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึก และอัตลักษณ์ทางเพศได้หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับเพศตามธรรมชาติหรือเพศสรีระ ถือเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันในวงกว้าง
แต่ทัศนะเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในวงสังคมศาสตร์เท่านั้น #วิทยาศาสตร์ ก็เป็นหนึ่งในกระบวนทัศน์ที่มีส่วนร่วมในก่อร่างสร้างแนวคิดความหลากหลายทางเพศไม่น้อย เราจึงอยากจะพาทุกคนมาย้อนรอย “ความหลากหลายทางเพศในทัศนะของวิทยาศาตร์” ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นองค์ความรู้ในการอธิบายความเป็นเพศของมนุษย์เช่นกัน
.
.
ความหลากหลายทางเพศ ผ่านแว่นตา ‘วิทยาศาสตร์’
⠀⠀⠀หากจะทำความเข้าใจความเป็นเพศในทัศนะของวิทยาศาตร์ ก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงสมัยช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่กรอบความคิดของคนในยุคนั้นอยู่ภายใต้ความคิดทางวิทยาศาสตร์ เชื่อในหลักการและเหตุผลเชิงประจักษ์ เรียกง่าย ๆ ว่า วิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องเพศ
นั่นทำให้การศึกษาพฤติกรรมทางเพศในยุคนั้น เป็นการนำหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาจับ การอธิบายเรื่องราวของเพศจึงกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สามารถตรวจสอบวินิจฉัยได้จากสมอง ระบบประสาท หรือฮอร์โมน
⠀⠀⠀‘เพศ’ ในทางวิทยาศาสตร์ จึงแยกออกเป็น 2 เพศ คือเพศหญิงและเพศชาย เนื่องจากกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์มองว่า เพศเป็นเรื่องของการสืบพันธ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจำกัดให้มีเพียงแค่เพศหญิงและเพศชายเท่านั้นที่จะสามารถอธิบายความจริงนี้ได้ นั่นทำให้สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากนั้นนับเป็น ‘ความผิดปกติ’
แต่ใช่ว่าทุกทัศนะภายใต้กระบวนทัศน์นี้จะมองหาแต่สิ่งที่ผิดปกติ ยังมีคนพยายามใช้วิทยาศาสตร์ในการอธิบายความหลากหลายทางเพศอยู่เช่นกัน
⠀⠀⠀โดยนักวิทย์ฯ ในกลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์สามารถแสดงพฤติกรรมและอารมณ์ทางเพศได้หลากหลาย และทุกพฤติกรรมล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางชีววิทยา เช่น การหลั่งฮอร์โมนเพศ การทำงานของสมอง การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำความรู้ทางชีววิทยามาศึกษาความหลากหลายในสรีระทางเพศของมนุษย์ โดยศึกษากลุ่มคนที่มีเพศกำกวม ซึ่งหมายถึง ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับลักษณะทางเพศ, อวัยวะเพศ, โครโมโซม หรือต่อมเพศ ที่ไม่จัดเข้าอยู่ในเพศชายและหญิงอย่างชัดเจน ในที่นี้เป็น ‘ภาวะทางร่างกาย’ โดยแต่ละคนจะปรากฏลักษณะที่แตกต่างและไม่ตายตัว ซึ่งในยุคต่อมาเรารู้จักในนาม Intersex นั่นเอง
.
.
⠀⠀ ทางฝั่งนักจิตเวชศาสตร์ก็ไม่น้อยหน้า ได้ต่อยอดโดยการผนวกเอาอามณ์ความรู้สึกกับชีววิทยาเข้าด้วยกัน โดยชี้ให้เห็นว่าอารมณ์และความรู้สึกทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ ซึ่งเป็นผลมาจากแรงขับตามธรรมชาติ นักจิตฯ บางคนเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพึงพอใจต่อเพศเดียวกันและเพศตรงข้ามได้ โดยความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ
⠀⠀⠀ยังมีการศึกษาวิจัยอีกหลายเคสในแวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับความหลากหลายของพฤติกรรมทางเพศและเพศสรีระ ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนว่าร่างกายตามธรรมชาติของมนุษย์ #ไม่ได้มีเพียงเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น และหากได้รับการส่งเสริมหรือเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ในวงกว้าง ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความตระหนักรู้และยอมรับความหลากหลายทางเพศได้อีกทางหนึ่ง
.
.
เมื่อสังคมเติบโต วิทยาศาสตร์ก็เติบโต
⠀⠀⠀ต้องยอมรับว่าการมองโดยใช้กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองเพศในมิติของกายภาพ อาจไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นเกณฑ์ศึกษาความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันที่ก้าวข้ามการแบ่งแยกด้วยอัตลักษณ์มาแล้ว แต่ในทางการแพทย์และจิตเวชศาสตร์นั้น ยังถือว่าจำเป็นอยู่มากสำหรับการวิเคราะห์อาการและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะแปลงเพศหรือผู้ที่เกิดความไม่แน่ใจในเพศของตัวเอง
ซึ่งวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้หยุดตัวเองลงเพียงแค่องค์ความรู้เดิมที่มีเท่านั้น ยังคอยปรับตัวและเติบโตไปพร้อมสังคมอยู่เสมอ ในทางการแพทย์ก็มีความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพของกลุ่มเพศหลากหลายซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงและแตกต่างจากประชากรทั่วไปในบางแง่มุม
ยกตัวอย่าง จากแต่ก่อนการวินิจฉัยผู้ที่แสดงบทบาททางเพศไม่ตรงกับเพศสรีระ ทางการแพทย์และจิตเวชศาสตร์เรียกภาวะนี้ว่า ‘ความผิดปกติทางอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity Disorder: GID)’ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การวินิจฉัยเป็น ‘ความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria)’
กล่าวคือ เปลี่ยนทิศทางจากการพยายามมองหาความแตกต่างทางเพศของบุคคล ไปสู่การระบุความทุกข์ด้านจิตใจ ที่เกิดจากความอึดอัดขับข้องใจในความไม่เข้ากันของเพศกำเนิดและอัตลักษณ์ทางเพศแทน เรียกง่าย ๆ ว่า เปลี่ยนจากมองหาว่าพฤติกรรมของเขาต่างจากเพศกำเนิดอย่างไร ไปสู่การมองหาว่าเขาทุกข์ใจอย่างไรกับภาวะนี้
.
.
⠀⠀⠀บรรยากาศของ Pride Month ที่คึกคักขึ้นทุกปี อาจนับว่าเป็นหมุดหมายหนึ่งที่สะท้อนภาพของการให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิทางสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในแวดวงวิชาการก็มีการศึกษาในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น รวมไปถึงผู้คนในสังคมเองก็ตื่นตัวกับการทำความเข้าใจ ยอมรับ และมีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในทางกฎหมายและภาครัฐ
STeP ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจนี้ และร่วมสนับสนุนผลักดันกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ให้ทุกความรักได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่ประชาชนคนหนึ่งพึงมี Happy Pride Month
ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59710
https://www.sac.or.th/.../anthropology-concepts/articles/2