แค่รับสัมผัสมันธรรมดาไปแล้ว วัสดุผ้าแบบใหม่ ดมกลิ่น,ลิ้มรสได้ เพื่อประสาทสัมผัสที่ไปไกลกว่าผิวหนังมนุษย์

ในโลกของการพัฒนาวัสดุ วัสดุไฟเบอร์ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจและพัฒนามาอย่างยาวนาน เพราะเป้าประสงค์ในการนำไปเป็นเครื่องนุ่งห่มสวมใส่แห่งอนาคต เหตุนั้นเองที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมากที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับวัสดุไฟเบอร์ได้เสมอ เช่น วัสดุไฟเบอร์ที่สามารถรับรู้แรงกดได้ราวกับผิวหนังมนุษย์ เป็นต้น


แต่ล่าสุด นวัตกรรมที่ว่ากลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องเก่าไปแล้ว เพราะทีมวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ได้ร่วมกันพัฒนา “ไฟเบอร์มัลติฟังก์ชัน” รุ่นใหม่ที่มีความสามารถหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันไปตลอดกาล เพราะไฟเบอร์ใหม่ที่ว่านี้ สามารถ “รับรู้กลิ่นและรส” ได้นั่นเอง


โดยเป้าหมายของการพัฒนาไฟเบอร์นี้คือการสร้างอุปกรณ์ที่สามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในด้านการตรวจจับและวัดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ไฟเบอร์เหล่านี้มีโครงสร้างสามมิติพิเศษ กล่าวคือมีเซ็นเซอร์ที่สามารถเลียนแบบการทำงานของประสาทสัมผัสของมนุษย์ได้แทบทุกประการ เช่น การตรวจจับแสง สารเคมี ความดัน และข้อมูลสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน


นอกจากนั้น การใช้วัสดุอย่าง molybdenum disulfide (MoS2) ทำให้นวัตกรรมไฟเบอร์ล่าสุดมีความทนทานและประสิทธิภาพสูง ทำให้เกิดข้อดีคือเส้นไฟเบอร์สามารถบิดโค้งได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สามารถนำไปใช้งานในอุปกรณ์อัจฉริยะได้ เช่น เสื้อผ้าอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบตัว ไปจนถึงอุปรกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องการการตอบสนองกับผู้ใช้อย่างรวดเร็ว เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในงานต่าง ๆ เป็นต้น


ศาสตราจารย์บงฮุน คิม ผู้นำทีมวิจัย กล่าวว่า "การค้นพบนี้ได้ขยายขอบเขตการใช้งานของวัสดุนาโนอย่างมาก ทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการวัดสัญญาณและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทีมของเรายังมุ่งมั่นที่จะสำรวจวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถนำเสนอการวัดที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสำหรับอุปกรณ์สวมใส่อีกด้วย"


อีกทั้งในรายงานวิจัย ยังมีการกล่าวถึงเพิ่มเติมว่าความสำเร็จในงานวิจัยนี้ไม่เพียงแค่จะนำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ๆ แต่ยังมีศักยภาพในการใช้ในด้านการแพทย์ได้อีกด้วย เช่น เครื่องมือสำหรับตรวจหาสัญญาณชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทีมวิจัยหวังว่าวัสดุนี้จะเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในอนาคต