สำหรับการผ่าตัดทางการแพทย์ในยุคสมัยปัจจุบัน หลายรูปแบบการผ่าตัดได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็น “การผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก” แล้ว โดยคำว่าเล็กที่ว่านี้ทำให้แผลผ่าตัดจากบางการรักษาลดขนาดลงมาเหลือเพียงระดับมิลลิเมตร อีกทั้งยังสามารถไปยังจุดที่มีปัญหาในร่างกายที่เล็กมากๆ ได้ แต่นวัตกรรมทางการแพทย์ก็ยังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะล่าสุดมีนักวิจัยที่สามารถสร้างหุ่นยนต์ชีวการแพทย์ที่ทำให้สามารถไปในร่างกายมนุษย์ได้ไกลกว่าเดิมอีก
โดยนวัตกรรมล่าสุดนี้มาจากโรงเรียนวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (HKUST) ที่เหล่านักวิจัยได้สร้างหุ่นยนต์ชีวการแพทย์ที่มีความหลากหลายและมีขนาด “เล็กที่สุดในโลก” โดยมีขนาดเพียง 0.95 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กกว่าหุ่นยนต์ผ่าตัดที่นิยมในปัจจุบันถึง 60%
หุ่นยนต์ล่าสุดนี้มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กที่สามารถนำทางผ่านทางเดินภายในร่างกายมนุษย์โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่นำทาง โดยถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก เพราะช่วยให้สามารถเข้าถึงพื้นที่แคบหรือพื้นที่ที่มีปัญหาที่ยากต่อการเข้าถึงภายในร่างกายมนุษย์ เช่น ปลายหลอดลมในปอดและท่อนำไข่ นอกจากนี้ หุ่นยนต์นี้ยังมีการทำงานที่หลากหลาย เช่น การฉายภาพภายในร่างกาย การนำส่งยา การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ ไปจนถึงการทำลายเนื้อเยื่อร้ายด้วยเลเซอร์
ศาสตราจารย์เซิ่น หยาจิง ผู้นำงานวิจัยในการพัฒนาครั้งนี้ กล่าวว่า “หุ่นยนต์ขนาดเล็กคือความหวังในด้านการวินิจฉัยและการรักษา แต่รุ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันมักมีปัญหาเรื่องความกะทัดรัด ความแม่นยำในการนำทาง และการให้การรักษาที่มีฟังก์ชันหลากหลายในเวลาเดียวกัน"
โดยในรายงานวิจัย ได้มีการกล่าวว่าพวกเขาทดสอบความสามารถของหุ่นยนต์ทั้งในสภาพแวดล้อมในหลอดทดลองและในรุ่นที่นำชิ้นเนื้อออกมาแล้ว รวมถึงการลองนำหุ่นยนต์ไปปฏิบัติภารกิจในแบบจำลองหลอดลม ซึ่งผลการทดลองทั้งหมดนั้นเป็นไปด้วยดี หุ่นยนต์สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น จนคณะผู้วิจัยวางแผนจะทดสอบในการใช้งานจริงต่อไป
“การศึกษาของเราเสนอวิธีการที่สำคัญสำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดที่มุ่งไปที่การวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง การพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตจะช่วยให้หุ่นยนต์นี้มีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพมนุษย์ได้มากยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์เซิ่นทิ้งท้าย โดยเป็นเน้นย้ำอย่างดีว่าหุ่นยนต์ขนาดเล็กถือเป็นอนาคตทางการแพทย์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถทำงานในพื้นที่แคบได้ อีกทั้งยังสร้างแผลเล็ก ช่วยให้การฟื้นตัวหลังจากนั้นเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ดังนั้นงานวิจัยไม่น่าจะจบแค่เพียงนวัตกรรมล่าสุดนี้แน่ ในอนาคตเราน่าจะได้เห็นนวัตกรรมอีกมากที่ร่วมกันพัฒนาให้การผ่าตัดดีต่อมนุษย์มากที่สุด