ในอนาคต อย่าเผลอไปตีแมลงที่บินมาใกล้เราเชียวนะ เพราะไม่แน่ว่านั่นอาจเป็นโดรนขนาดจิ๋วที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการเกษตรก็ได้!
เนื่องจากจากงานวิจัยล่าสุด นักวิจัยจาก MIT กำลังพัฒนาหุ่นยนต์แมลงขนาดเล็กที่สามารถช่วยในการ “ผสมเกสรเทียม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรอย่างสูง โดยหุ่นยนต์เหล่านี้ได้แรงบันดาลใจจากสรีระของแมลงที่ผสมเกสรธรรมชาติอย่างผึ้ง สำหรับการเพิ่มความคล่องแคล่วและความทนทาน ทำให้สามารถบินได้นานถึง 1,000 วินาที ซึ่งนานกว่า 100 เท่ากับหุ่นยนต์แมลงรุ่นล่าสุดที่เคยทำได้ก่อนหน้านี้
ที่ยอดเยี่ยมมากไปกว่านั้น คือนอกจากหุ่นยนต์รุ่นใหม่จะถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความแม่นยำและความคล่องตัวในการบินแล้ว นวัตกรรมนี้ยังสามารถลดความเครียดทางกลบนปีกเทียม ทำให้เพิ่มความทนทานและเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น อีกทั้งการออกแบบใหม่นี้ยังมีพื้นที่เพียงพอที่จะเพิ่มแบตเตอรี่หรือเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก ซึ่งอาจทำให้พวกมันสามารถบินภายนอกห้องปฏิบัติการได้
หรือพูดง่ายๆ ว่าอาจจะสามารถบินปฏิบัติภารกิจในพื้นที่การเกษตรจริงได้นั่นเอง
ในการพัฒนาครั้งนี้ ทีมวิจัยนําโดย Kevin Chen ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้ปรับปรุงการออกแบบให้หุ่นยนต์มีปีกเพียงครึ่งหนึ่งจากรุ่นก่อนหน้า ทำให้มีพื้นที่พอสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และลดความเครียดทางกลที่จำกัดระยะเวลาในการใช้งาน นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังสามารถสร้างแรงยกได้มากขึ้นเนื่องจากการออกแบบใหม่ที่ทำให้ปีกทั้งสี่ของหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่มีอุปสรรค อีกทั้งหุ่นยนต์ดังกล่าวยังใช้ "กล้ามเนื้อเทียม" ที่ทำจากชั้นของอีลาสโตเมอร์ที่ถูกประกบระหว่างขั้วไฟฟ้าคาร์บอนนาโนทิวบ์สองชั้น และถูกม้วนขึ้นเป็นทรงกระบอก ช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก
และนอกเหนือจากการใช้งาน นักวิจัยยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาขั้นตอนการผลิตที่มีความแม่นยำสูง เพื่อผลิตบานพับปีกที่ยาวและบางซึ่งช่วยลดความเครียดในการเคลื่อนไหวของปีก ทำให้ขณะนี้หุ่นยนต์สามารถบินได้โดยไม่มีการเสื่อมสภาพในความแม่นยำกว่า 1,000 วินาที หรือประมาณ 17 นาที
ในอนาคต Chen และทีมคณะผู้วิจัยยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มระยะเวลาการบินให้มากกว่า 10,000 วินาที รวมถึงปรับปรุงความแม่นยำในการเชื่อมและลงจอดบนจุดที่เล็ก เช่น กลางดอกไม้ โดยการการเพิ่มแบตเตอรี่และเซ็นเซอร์เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถบินและนำทางภายนอกห้องปฏิบัติการได้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ นี่จะนำไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่หลากหลายและน่าตื่นเต้นอย่างยิ่งในอนาคต