รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบัน ด้วยความง่ายของเทคโนโลยี ทำให้คนทั่วไปสามารถทำเพลงได้แล้ว และมีไม่น้อยเลยที่เพลงเหล่านั้นทะลุขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ แต่ท่ามกลางการเกิดขึ้นของเพลงใหม่และเนื้อเพลงกว่าล้านบรรทัดจากทั่วทุกสารทิศ การผลิตซ้ำเหล่านั้นก็สะท้อนบางอย่างออกมาเช่นกัน
เพราะเมื่อช่วงหลายเดือนก่อน งานวิจัยจากทีมวิจัยจากทางฝั่งยุโรปที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเพลงในช่วงตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าวงการเพลงได้มีพัฒนาการในลักษณะที่ทำให้เนื้อเพลงมีความ “เรียบง่าย” ขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเรียบง่ายที่ว่านี้ก็มีลักษณะ “ซ้ำซาก” มากขึ้นเช่นกัน โดยสอดคล้องกับความคิดเห็นของแฟนเพลงที่รู้สึกว่าเพลงในปัจจุบันไม่น่าสนใจและไม่ซับซ้อนเหมือนครั้งในอดีต อีกทั้งพวกเขายังพบข้อสังเกตุเพิ่มเติมด้วยมีการแสดงอารมณ์ความโกรธและความหมกมุ่นในตนเองในเนื้อเพลงอย่างเห็นได้ชัด
โดยในงานวิจัยดังกล่าว เกิดจากการที่นักวิจัยได้วิเคราะห์เนื้อเพลงภาษาอังกฤษมากกว่า 12,000 เพลงจากหลายแนว เช่น แร็พ คันทรี ป๊อป อาร์แอนด์บี และร็อก ตั้งแต่ปี 1980 ถึง 2020 จนพบว่าเนื้อเพลงในทุกแนวมีแนวโน้มที่จะง่ายขึ้น แต่ก็มีการใช้คำซ้ำมากขึ้นตามเวลาที่ใกล้เคียงปัจจุบัน ซึ่งนักวิจัยชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้อาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ในสังคม ที่สร้าง “Echo Chamber” ของแต่ละคนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความสนใจและคลังคำศัพท์ในหัวถูกจำกัดและไม่เป็นอิสระ
และงานวิจัยนี้ยังค้นพบเพิ่มเติมด้วยว่านอกเหนือจากความเรียบง่ายและความซ้ำซากแล้ว เนื้อเพลงในยุคที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากเท่าไหร่ ยิ่งยังแสดงอารมณ์ในแง่ลบมากขึ้นเท่านั้น เช่น ความโกรธ ความรังเกียจ หรือความเศร้า อีกทั้งคำที่แสดงถึงตนเอง เช่น "ฉัน" และ "ของฉัน" ก็ปรากฏบ่อยขึ้นมากจนผิดสังเกตุ โดยเฉพาะในเพลงแร็พ ที่ถูกระบุว่ามีการเพิ่มของความหมกมุ่นในตนเองมากที่สุด
แต่อีกหนึ่งข้องสังเกตุที่น่าสนใจ คืองานศึกษายังชี้ให้เห็นด้วยว่าแฟนเพลงแนวร็อกเริ่มหันไปฟังเพลงยุคเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ แสดงถึงการถวิลหายุคทองของแนวเพลงนี้ และอีกหนึ่งข้อสังเกตุคือเพลงในยุคปัจจุบันเหมือนถูกกดดันว่าต้องดึงดูดผู้ฟังให้ได้ตั้งแต่ในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีแรก มิฉะนั้นผู้ฟังอาจข้ามไปยังเพลงถัดไป ตามแพลตฟอร์มที่เอื้อให้การดข้ามเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม
ด้วยเหตุนี้ เพลงที่มีโครงสร้างซ้ำและเนื้อเพลงที่จำง่ายจึงกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้ฟังสามารถจำและติดหูได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมการฟังเพลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล แต่สำหรับแฟนเพลงหลายคน ผลการศึกษาที่เกิดขึ้นมันก็ทำให้น่าตั้งคำถามเหมือนกัน ว่าสุดท้ายถ้าเพลงคือแขนงหนึ่งในงานสร้างสรรค์ ความซ้ำซากจำเจคือสิ่งที่เราควรจะเคยชินจริงๆ เหรอ หรือสุดท้ายเราต้องก้าวข้ามรอยเท้าเดิม เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ใ้หมากกว่าที่เป็นอยู่