ความท้าทายในการดำรงชีวิตของมนุษย์นอกโลกไม่ได้จำกัดเพียงอยู่แค่การหามวลอากาศที่สามารถหายใจได้หรือการหาทางป้องกันจากรังสีคอสมิก แต่การจะทำให้มนุษย์สามารถ “ขยายพันธุ์” ในสภาวะที่เลวร้ายของอวกาศได้ต่างหาก ที่เป็นสิ่งสำคัญต่อเป้าหมายระยะยาวของมนุษยชาติในการตั้งอาณานิคมบนดาวเคราะห์อื่น
และด้วยแนวคิดข้างต้น ตลอดเวลาที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มหันมาวิจัยในแนวทางต่างๆ เพื่อพยายามหาคำตอบ โดยหนึ่งในวิธีการหาความรู้ที่น่าสนใจ คืองานวิจัยโดยศาสตราจารย์เทรุฮิโกะ วากายามะ จากมหาวิทยาลัยยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น ที่นำพา “สเปิร์มหนูที่ผ่านกระบวนการฟรีซดราย” ขึ้นไปบนอวกาศ เพื่อหาความเป็นไปได้ในกรณีของสเปิร์มมนุษย์ ว่าสามารถทำได้หรือมีผลกระทบใดๆ ถ้าเทียบกับสเปิร์มของหนูทดลอง รวมถึงพยายามสำรวจด้วยว่าการสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถเกิดขึ้นนอกโลกได้ไหม และอย่างไร
"เป้าหมายของเราคือการสร้างระบบที่สามารถเก็บรักษาทรัพยากรพันธุกรรมของโลกไว้อย่างปลอดภัยและถาวรบนอวกาศ ไม่ว่าจะบนดวงจันทร์หรือดาวดวงอื่น เพื่อให้ชีวิตสามารถฟื้นตัวได้แม้ว่าโลกจะประสบภัยพิบัติร้ายแรงก็ตาม" วากายามะกล่าว
แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้วากายามะต้องทำการศึกษาแบบนั้น? ในงานวิจัยของเขาได้อธิบายว่าด้วยความที่อวกาศเต็มไปด้วยรังสี อย่างบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ก็มีระดับรังสีที่สูงกว่าโลกถึง 100 เท่า ปัจจัยตรงนี้สามารถสร้างความเสียหายต่อ DNA ในสเปิร์มได้โดยตรง ซึ่งอาจกระทบต่อการสืบพันธุ์ได้นั่นเอง แต่เพราะเห็นความไปนั้น นักวิจัยจึงได้แสดงแนวทางสำหรับความทนทานของสเปิร์มใหม่ นั่นคือการเก็บรักษาสเปิร์มของหนูทดลองแบบฟรีซดราย
โดยการทดลองของวากายามี เกิดขึ้นบน ISS และกินเวลามาแล้วเกือบหกปี แต่แม้ว่าจะเผชิญกับรังสีอวกาศเป็นเวลานาน สเปิร์มของหนูทดลองที่เก็บรักษาไว้กลับสามารถสร้างลูกที่มีสุขภาพดีได้เมื่อกลับมายังโลกให้ชื้น ลูกหนูที่เกิดมา (พวกเขาเรียกว่า "หนูอวกาศ") ไม่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมใดๆ เมื่อเทียบกับหนูที่เกิดจากสเปิร์มที่เก็บไว้บนโลก
ดังนั้นในอนาคต ทีมวิจัยมีจึงคาดหวังว่าด้วยกระบวนการเดียวกัน สเปิร์มของมนุษย์ก็น่าจะเก็บรักษาในอวกาศได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งพวกเขายังมีวิสัยทัศน์ในการสร้างธนาคารชีวภาพบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารด้วยซ้ำ
การศึกษาการสืบพันธุ์ในอวกาศไม่ใช่เรื่องใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ส่งสิ่งมีชีวิตจากโลกขึ้นสู่สถานีวงโคจรเพื่อสังเกตผลกระทบของแรงโน้มถ่วงต่ำและรังสีต่อกระบวนการทางชีววิทยาหลายครั้งแล้ว อย่างในปี 1989 ก็มีการส่งไข่ไก่ที่ปฏิสนธิสู่ห้วงอวกาศ แต่งานของวากายามะถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญ เนื่องจากมุ่งเน้นไปที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและได้พัฒนาวิธีฟรีซดรายที่ประสบผลสำเร็จ
ดังนั้นถึงแม้ว่าการสืบพันธุ์ของมนุษย์ในอวกาศอาจฟังดูเหมือนโครงเรื่องจากภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ แต่การทดลองของวากายามะกำลังวางรากฐานเพื่อทำให้สิ่งนี้กลายเป็นความจริง โดยหากประสบความสำเร็จในมนุษย์แบบร้อยเปอร์เซนต์ งานวิจัยนี้อาจเป็นรากฐาณสำคัญที่ทำให้มั่นใจได้ว่ามนุษยชาติจะรอดพ้นจากโลกที่ล่มสลาย โดยรับรองได้ว่าทุกชีวิตสามารถทนทานแม้ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายที่สุด