ปีใหม่ทั้งที วาระแบบนี้จะมีอะไรดีไปกว่าการตั้งปณิธานปีใหม่กัน เพราะเมื่อตั้งแล้วเรายังมีเวลาอีกตั้งหนึ่งปีในการบรรลุเป้าหมาย แต่ทุกคนเคยสงสัยไหม ว่าทำไมมนุษย์ชอบตั้งปณิธานในช่วงปีใหม่? วางเป้าหมายในช่วงอื่นไม่ได้เหรอ? แล้วการตั้งปณิธานปีใหม่ดีอย่างไรกันนะ?
รู้หรือไม่ในแวดวงของงานวิจัย ประเด็นความสงสัยข้างต้นถูกนำมาหาคำตอบหลายครั้งอยู่เหมือนกันนะ อย่างเช่นงานวิจัยเมื่อปี 2000 ที่บรรยายถึงการตั้งปณิธานในปีใหม่ว่าคือความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่มีระเบียบและมีเป้าหมายมากขึ้น เพราะในช่วงเริ่มต้นของปีใหม่ ผู้คนมักมีแรงจูงใจจากการเริ่มต้นใหม่ในการกำหนดเป้าหมาย เช่น การลดน้ำหนัก ลดแอลกอฮอล์ หรือเลิกสูบบุหรี่ โดยรูปแบบที่พบได้บ่อยคือการสร้างคำประกาศที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจและช่วยให้บุคคลมุ่งมั่นไปที่ความปรารถนาของตน แม้ว่าการพัฒนาและดำเนินการตามวิสัยทัศน์นี้จะต้องอาศัยความพยายามตลอดปี
หรือในอีกหนึ่งงานวิจัยเมื่อปี 2013 ที่บอกเล่าถึงการตั้งปณิธานปีใหม่ ว่าเป็นการตั้งเป้าหมายส่วนบุคคลที่ “เป็นสิ่งสำคัญ” สำหรับการควบคุมตนเองในวัยผู้ใหญ่ โดยแนวคิดนี้ระบุว่าการมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ปณิธานปีใหม่ สามารถเพิ่มประสิทธิผลและความพึงพอใจในชีวิตได้มากขึ้น เพราะเมื่อมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายส่วนบุคคล บุคคลจะสามารถจัดการกับการทำงานที่ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าการตั้งปณิธานสามารถส่งเสริมการควบคุมและการจัดระบบในตนเอง ส่งผลให้ผู้ที่ตั้งปณิธานมีชีวิตที่มีประสิทธิภาพและเติมเต็ม
แต่จากประโยชน์ในการวิจัยเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดความสงสัยต่อเนื่องตามมาด้วย นั่นคือเมื่อรู้แล้วว่าปณิธานปีใหม่มีประโยชน์ แต่ปณิธานปีใหม่แบบไหนกันล่ะ ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพที่จะทำให้ผู้ตั้งเกิดผลดีมากที่สุด ซึ่งคำถามที่ว่าก็นำพามาซึ่งงานวิจัยจากวารสาร PLOS ONE เมื่อปีที่แล้วที่ศึกษาประสิทธิภาพของการตั้งปณิธานปีใหม่ โดยมีจุดประสงค์หลักคือการตรวจสอบว่าการตั้งเป้าหมายประเภทใดมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน และการสนับสนุนใดบ้างที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น
ผลการวิจัยในครั้งนั้นพบข้อสังเกตุที่น่าสนใจ คือปณิธานปีใหม่ที่เป็นเชิงการเข้าหา (Approach) (เช่น "ฉันจะออกกำลังกายมากขึ้น") มีโอกาสประสบความสำเร็จในการบรรลุปณิธานปีใหม่มากกว่าเชิงการหลีกเลี่ยง (Avoidance) (เช่น "ฉันจะเลิกสูบบุหรี่") โดยอัตราความสำเร็จของเป้าหมายเชิงการเข้าหาอยู่ที่ 58.9% ในขณะที่เป้าหมายเชิงการหลีกเลี่ยงอยู่ที่ 47.1% แสดงให้เห็นว่าการมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ต้องการจะทำนั้นได้ผลดีกว่าการมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ต้องการจะเลิกทำ
ส่วนในแง่การสนับสนุน งานวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสนับสนุนในระดับต่างๆ (ข้อมูล ข้อเสนอแนะ การออกกำลังกาย และ/หรือ การสนับสนุนทางสังคม) มีอัตราความสำเร็จสูงกว่ากลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับการสนับสนุน) อย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยพบสิ่งที่น่าประหลาดใจและน่าสนใจมากกว่านั้นด้วย คือกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุน “อย่างเต็มที่” กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้วิจัยคาดการณ์ว่าเป็นเพราะการกำหนดปณิธานปีใหม่ที่ถูกสนับสนุนจนเกิดเป็นความ ”ความจริงจัง” มากเกินไป จะสร้างความรู้สึกกดดันที่เพิ่มขึ้นมากเกินนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าปณิธานปีใหม่มีความสำคัญเพราะช่วยให้บุคคลมีแรงจูงใจในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน และยังสามารถนำไปสู่ชีวิตที่มีระเบียบ มีเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นไหนๆ วันนี้ก็ปีใหม่แล้ว มาลองตั้งเป้าหมายสำหรับปีนี้กันดูนะ