นักวิทย์ฯ และนักเรียนร่วมกันค้นพบ แบคทีเรียสำหรับทำยาในมูลห่าน ผ่านโครงการที่เชิญเด็กท้องถิ่นมาเปิดโลกงานวิจัย

รู้หรือไม่ว่าล่าสุดมีการค้นพบว่าหนึ่งในแบคทีเรียที่อยู่ในมูลห่าน มีศักยภาพที่สามารถจะนำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะได้ โดยการค้นพบนี้ เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิจัยและเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น


ใช่ อ่านไม่ผิดหรอก เพราะการศึกษานี้เกิดขึ้นจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์แห่งเมืองชิคาโก ที่นำโดยนักวิจัย Brian Murphy โดยพวกเขาได้สร้างโครงการหนึ่งขึ้นมา เนื่องจากเล็งเห็นว่าความเหลื่อมล้ำในแง่ทรัพยากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ของเด็กในพื้นที่นั้นมีอยู่มาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายของการดำเนินการทดลอง ทำให้นักเรียนบางกลุ่มไม่ได้รับโอกาสในสาขาเหล่านี้ พวกเขาจึงสร้างโครงการขึ้นมาเพื่อให้เด็กที่ขาดโอกาส ได้สัมผัสโอกาสในสาขาข้างต้นมากขึ้น


โดยเด็กที่เข้าร่วมจะได้โอกาสในการมีส่วนร่วมในงานวิจัยคุณภาพสูง ซึ่งในการศึกษาครั้งล่าสุด เด็กทุกคนมาจากการร่วมมือกับ Boys and Girls Club ในเมืองชิคาโก สำหรับการจัดโปรแกรมวิทยาศาสตร์ประยุกต์ 14 สัปดาห์ให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง


โดยในครั้งนี้ ห้องปฏิบัติการของ Murphy ได้มุ่งเน้นไปที่การค้นหายาปฏิชีวนะจากแหล่งธรรมชาติ นักเรียนกลุ่มนี้จึงมีส่วนในการจัดหาและวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจากชุมชนท้องถิ่น และยังได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยโดยการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์เพื่อเก็บอาณานิคมแบคทีเรียและทดสอบว่าแบคทีเรียมีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะหรือไม่


ซึ่งผลที่ได้ คือการที่หนึ่งในตัวอย่างแบคทีเรียจากมูลห่านที่มีชื่อว่า Pseudomonas idahoensis นั้นได้ถูกวิเคราะห์ข้อมูลโดยเหล่านักเรียนม.ต้นจนพบว่าแบคทีเรียดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะได้ด้วย


โดยสรุป นักวิจัยได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่างานศึกษาที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเราสามารถรวมการศึกษาเข้ากับการค้นคว้าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติได้ พร้อมทั้งเน้นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชนท้องถิ่น ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะกับเหล่าเยาวชนนั่นเอง