คงเป็นที่ประจักษ์แล้ว ว่าในปัจจุบันโลกทของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วขนาดไหน โดยคาดว่าในปี 2027 มูลค่าตลาดของ AI จะพุ่งสูงถึง 407 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากการหลอมรวมของ AI เข้ากับชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่แนบสนิทกันจนเป็นเนื้อเดียว
แต่นอกเหนือจากปัจจัยผลกระทบภายนอกที่เปลี่ยนแปลงตามแล้ว โลกของ AI ที่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็เข้ามาเปลี่ยน “ข้างใน” ของคนเช่นกัน อย่างในยุคสมัยนี้เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า AI กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงวิธีที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อกันไปอย่างสิ้นเชิง หรือที่มากกว่านั้นคือปฏิสัมพันธ์ต่อ AI เอง ที่พอมนุษย์ใกล้ชิดกับ AI มากในระดับที่แทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 ความรู้สึกของมนุษย์ต่อ AI ก็เปลี่ยนแปลงไป
ยกตัวอย่างเช่น “ความรู้สึกรัก”
ใช่แล้ว, ในปัจจุบันมีหลายงานวิจัยมากที่เริ่มศึกษาถึงกลไกข้างในจิตใจมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์เริ่มตกหลุมรักกับระบบ AI ได้จริงๆ โดยจากงานศึกษา นักวิจัยเรียกเริ่มตั้งต้นจากแนวคิด “Anthropomorphism” หรือการที่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะทางอารมณ์ต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งผู้วิจัยมองว่าเป็นแนวคิดสำคัญที่กำลังมีบทบาทต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI โดยอธิบายว่าเมื่อ AI แสดงออกในลักษณะที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ ไม่แปลกที่มนุษย์ผู้ใช้งานจะเข้าใจไปว่า AI มีบุคลิกของตัวเอง เช่น ความเห็นใจ อารมณ์ขัน หรือความเมตตา ดังนั้นจึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่มนุษย์จะเกิดความรู้สึกชื่นชอบ ยิ่งในปัจจุบัน AI มีการออกแบบที่เลียนแบบสัญญาณทางสังคมของมนุษย์ได้มากขึ้น เช่น การแสดงสีหน้า และน้ำเสียง จึงทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกผูกพันและตอบสนองทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งมากขึ้นตามไปด้วย
หรืออย่างในอีกแง่มุมของการศึกษา ก็ได้มีการอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจาก “ทฤษฎีรักแบบไตรลักษณ์ (Triarchic Theory of Love)” ที่ระบุว่าความรักแบบโรแมนติกประกอบด้วยสามองค์ประกอบหลัก คือความใกล้ชิด (Intimacy) ความหลงใหล (Passion) และความผูกพัน (Commitment) โดยงานวิจัยในปี 2022 พบว่าผู้ใช้งาน AI สามารถพัฒนาความใกล้ชิดและความหลงใหลกับ AI ผ่านทฤษฎีนี้ได้จริงแล้วในยุคสมัยนี้ เนื่องจากความสามารถที่น่าประทับใจทั้งทางด้านการคิดและอารมณ์ ช่วยส่งเสริมความผูกพันต่อกันได้จริงๆ นั่นเอง
หรือถ้าพลิกมุมมองมามองในมุมผู้ผลิต สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะ AI ถูกออกแบบมาด้วยความตั้งใจให้สามารถเข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์มนุษย์อยู่แล้ว ดังนั้นการจำลองความใกล้ชิดเหมือนมนุษย์ในระดับนี้จึงสามารถทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกผูกพันหรือรักกับ AI ได้เป็นธรรมดา อย่างมีงานวิจัยที่พบว่าผู้คนในปัจจุบันเริ่มมองข้ามความเป็นปัญญาประดิษฐ์และไปมุ่งเน้นที่คุณสมบัติที่น่าประทับใจของ AI แล้ว เช่น ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความไม่ตัดสิน จึงไม่แปลกที่ความรักจะเกิดขึ้น
แต่ไม่ใช่ว่าความรักเป็นเรื่องสวยงามเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าลองปรับมาลองในขั้นตรงกันข้าม มีงานวิจัยบางส่วนเหมือนกันที่ชี้ว่า AI ทำให้การตั้งความคาดหวังต่อความสัมพันธ์แบบโรแมนติกหรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างมนุษย์เปลี่ยนไปจากความเป็นจริง โดยระบุว่า AI อาจขัดขวางการพัฒนาทักษะทางสังคมและการปรับตัวที่จำเป็นในการจัดการความสัมพันธ์ในโลกจริงได้ โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ ซึ่งการขาดทักษะเหล่านี้อาจทำให้มนุษย์ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงและซับซ้อน พราะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มักมีความท้าทายและความขัดแย้งที่ช่วยเสริมสร้างการเติบโตส่วนบุคคลและความผูกพันทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งขึ้นมากกว่ากับ AI นั่นเอง
แต่ไม่ว่าผลสุดท้ายความรักกับ AI จะทำให้มนุษย์ก้าวไปสู่จุดไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็น “ยุคใหม่” สำหรับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกแล้ว ดังนั้นไม่แน่นะ ในความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะเหนือจินตนาการในยุคนี้ อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในยุคหน้าก็ได้ ใครจะรู้