“ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเปลี่ยนแปลงงานวิจัยและการรักษาทางการแพทย์” ถ้อยคำนี้อาจไม่ใช่คำพูดที่เกินเลยไปนักแล้ว เนื่องจากนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นโดยบริษัท Adsilico
นวัตกรรมดังกล่าวคืออะไร? Adsilico เรียกสิ่งนี้ว่า "Digital Twin" หรือหัวใจที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ที่สามารถเต้นและเคลื่อนไหวเหมือนอวัยวะมนุษย์ เพียงแต่ไม่มีเลือดไหลผ่านและไม่ได้อยู่ในร่างกายมนุษย์ โดย Adsilico คาดหวังให้นวัตกรรมนี้สามารถใช้เพื่อทดสอบอุปกรณ์ในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ขดลวดค้ำยัน (stent) หรือลิ้นหัวใจเทียมได้ โดยพวกเขาคาดหวังให้เทคโนโลยีนี้ได้มาตรฐานจนสามารถนำไปใช้ตรวจสอบการรักษาใหม่ๆ เพื่อถูกใช้ในมนุษย์จริงต่อไป
โดย Adsilico ได้ก้าวไปไกลกว่าการสร้างแบบจำลองที่แม่นยำเพียงแบบเดียว ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลจำนวนมหาศาล จนสามารถสร้างหัวใจได้หลายรูปแบบ รวมถึงสามารถสร้างตามลักษณะทางชีวภาพ เช่น น้ำหนัก อายุ เพศ และความดันเลือด รวมถึงสภาวะสุขภาพและพื้นฐานทางชาติพันธุ์ได้อีกด้วย
Sheena Macpherson ผู้บริหารระดับสูงของ Adsilico กล่าวว่า "นวัตกรรมนี้ช่วยให้เราจับความหลากหลายทางกายวิภาคและการตอบสนองทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วน ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม โดยเรามองว่าการใช้ AI ในการทดสอบอุปกรณ์จะช่วยให้ผู้พัฒนาสร้างสรรค์อุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ครอบคลุมและปลอดภัยยิ่งขึ้น"
หรือถ้ามองเรื่องค่าใช้จ่าย การใช้ AI ในการทดลองยังช่วยลดเวลาในการทดสอบและประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่นบริษัทยาฝรั่งเศส Sanofi ที่ได้ร่วมงานกับ Adsilico เพื่อหวังที่จะลดระยะเวลาทดสอบลง 20% โดยใช้เทคโนโลยี Digital Twin ในการศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยา มะเร็งวิทยา และโรคหายากต่างๆ
อีกทั้งกับเป้าหมายในระยะยาว Adsilico ยังหวังที่จะให้เทคโนโลยี Digital Twin ของ AI นี้นำไปสู่การทดลองที่ไม่ต้องใช้สัตว์ในการทดสอบอีกต่อไปแล้วในอนาคต "แบบจำลองเสมือนของหัวใจมนุษย์ใกล้เคียงกับหัวใจมนุษย์มากกว่าหัวใจของสัตว์อื่นๆ อย่างสุนัข วัว แกะ หรือหมู" Macpherson กล่าวสรุปทิ้งท้าย