ผลงานวิจัยทางการแพทย์ คำพูดไหนที่หมอไม่ควรพูด? เช่น “ไม่มีอะไรที่หมอสามารถทำได้อีกแล้ว”

รู้หรือไม่ว่าในการศึกษาของโรงเรียนแพทย์ การสื่อสารกับคนไข้ถือเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่ได้รับการสอนเช่นกัน โดยถ้ายึดตามองค์ความรู้เดิม เชื่อว่าแพทย์ควรใช้การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ (compassionate communication) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา เพื่อรักษาความรู้สึกของผู้ป่วยและคนรอบข้างผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด


แต่คำที่ไม่ควรพูดล่ะ คุณหมอไม่ควรพูดอะไรบ้าง? คำถามข้างต้นนี้ยังไม่ได้รับการระบุในบทเรียนของแพทย์อย่างชัดเจน และนั่นเองที่ทำให้เกิดงานวิจัยจาก Texas A&M University ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Mayo Clinic Proceedings เมื่อไม่นานนี้


ดร.ลีโอนาร์ด เบอร์รี่ ผู้เขียนหลักของงานวิจัยดังกล่าวและอาจารย์จาก Texas A&M University ได้กล่าวไว้ว่า “แม้มีความก้าวหน้าในด้านการรักษาโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หัวใจวายขั้นรุนแรง ไปจนถึงโรคปอดระยะสุดท้าย แต่อารมณ์ของผู้ป่วยก็ยังคงเป็นสิ่งที่เปราะบางเสมออยู่ ดังนั้นการสื่อสารถึงข้อมูลการรักษา ระยะเวลา และความคาดหวังจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่เคยเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องจากความกลัว อารมณ์ การขาดความรู้ทางการแพทย์ และความหวังที่อาจเกินความเป็นจริง”


โดยในงานวิจัยได้บรรยายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่าคำพูดเพียงคำเดียวของหมออาจทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวรู้สึกกลัวและลดประสิทธิภาพในการตัดสินใจร่วมกัน รวมถึงอาจสร้างความตื่นตระหนกตกใจหรือการขุ่นเคืองที่ไม่จำเป็น ดังนั้นพวกเขาจึงทำการวิจัยครั้งนี้ เพื่อหาว่ามีคำพูดแบบไหนบ้าง ที่เป็นเหมือนกับคำต้องห้ามที่หมอไม่ควรพูดคนไข้หรือครอบครัวของผู้ป่วย


ซึ่งจากการสำรวจของแพทย์ ทีมนักวิจัยได้ระบุรูปแบบคำต้องห้ามไว้ เช่น


"ไม่มีอะไรอื่นที่เราสามารถทำได้อีกแล้ว"

"คนไข้จะไม่ดีขึ้น"

"ยกเลิกการรักษา"

"คุณต้องการให้เราทำทุกอย่างเลยเหรอ?"

"ต่อสู้กับโรค" หรือ "เอาชนะโรค"

"หมอไม่รู้ว่าทำไมคุณถึงรอนานขนาดนี้ถึงมาหาหมอ"

"หมอคนก่อนหน้าเขาทำแบบนี้ได้ไง?"

"ตอนนี้อย่าเพิ่งกังวลเกี่ยวกับโรค"

"คุณโชคดีนะ ที่มะเร็งเป็นแค่ระยะที่ 2 เท่านั้น"

"คุณล้มเหลวในการทำเคมีบำบัด"


แต่จากคำที่ไม่ควรพูดตามข้างต้น งานวิจัยได้แนะนำต่อไปด้วยว่าแพทย์ควรปรับคำพูดด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้การศึกษาดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การใช้คำถามแบบเปิดอก การแสดงความกังวลของแพทย์เองเมื่อต้องแจ้งข่าวเชิงลบ การใช้คำพูดเชิงสนับสนุนมากกว่าท้าทาย หรือคิดให้ง่ายกว่านั้น คือการใช้คำพูดที่แสดงถึงการยืนอยู่ข้างผู้ป่วยมากกว่าอยู่ฝั่งตรงข้าม อีกทั้งงานวิจัยยังเน้นย้ำความสำคัญของการนำองค์ความรู้นี้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ด้วย เพื่อให้นักศึกษาแพทย์และบัณฑิตมีทักษะการสื่อสารเพียงพอ และพร้อมที่จะก้าวออกไปเป็นแพทย์ในอนาคต