ในปัจจุบันที่ประชากรโลกมีมากกว่าแปดพันล้านคน มนุษย์กลับใช้ทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบแนวทางที่ไม่ยั่งยืน นักวิชาการ Klaus Hubacek จากมหาวิทยาลัย Groningen ในประเทศเนเธอร์แลนด์สนใจในประเด็นนั้น จึงได้ทำการวิเคราะห์ว่าวิถีชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันเรียกร้องการใช้ทรัพยากร เช่น ผืนดิน น้ำ และสิ่งอื่นๆ มากน้อยเพียงใด เพื่อหาคำตอบว่าเราจะปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกินขีดจำกัดของโลก และยังทันอยู่ไหม กับความพยายามทั้งหมด
ผลลัพธ์ที่ได้คือฮูบาเซคพบว่ามันยังคงเป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยนโยบายที่อิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเดิม
โดยในรายงานศึกษาฉบับนี้ได้เริ่มต้นอธิบายจากจุดที่ว่าการบริโภคของมนุษย์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและผลกระทบอื่นๆ อย่างรุนแรง จนนักวิทยาศาสตร์ได้กำหนด "ขอบเขตของโลก" จำนวน 9 ข้อที่ถ้าหากข้ามขอบเขตเหล่านี้จะนำไปสู่อันตรายที่ไม่อาจหวนกลับ ซึ่งในปี 2023 ขอบเขตของโลก 6 ข้อได้ถูกละเมิดไปแล้ว
จากความเป็นไปนี้ ฮูบาเซคได้ศึกษาเพิ่มเติมว่ามนุษย์มีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับขอบเขตของโลกและสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันการข้ามขอบเขจไปมากกว่านี้ จนได้ค้นพบว่ามีความจำเป็นที่ในปัจจุบัน มนุษย์ต้องคำนวณว่าด้วยจำนวนประชากรและขอบเขตของโลก เรายังเหลือพื้นที่สำหรับการบริโภคได้มากน้อยเพียงใด
จุดนี้เองที่ทำให้ฮูบาเซคพบข้อมูลที่น่าสนใจ เขาพบว่า 1% ของคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในปัจจุบัน สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่ากลุ่มยากจนถึง 50 เท่า ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดเหล่านี้ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่มนุษย์ควรเน้น โดยฮูบาเซคคิดคำนวณออกมาจนพบว่าถ้าปรับวิถีชีวิตของคนรวยที่สุด 20% ของโลกให้เป็นไปในรูปแบบที่ยั่งยืนมากกว่า จะช่วยลดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้สูงมากถึง 25% ถึง 53% ของผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะการปรับในการบริโภคอาหารและบริการ
นอกจากนี้ในรายงานฉบับเดียวกัน ฮูบาเซคยังได้เสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ เช่น การรับประทานอาหารเนื้อแดงน้อยลงและเพิ่มการบริโภคพืช เช่น ถั่ว เพราะจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 17% เนื่องจากตามข้อมูลแล้ว ภาคปศุสัตว์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้ามขอบเขตของโลกหลายประการ ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าหาทางออกต่อ
สุดท้าย ฮูบาเซคได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลคือหนึ่งในผู้เล่นที่สำคัญที่สุดในข้อเสนอนี้ เพราะมีอำนาจมากพอในการปรับตามข้อเสนอ เพื่อให้มนุษย์ยังสามารถอยู่ภายในขอบเขตของโลกได้ แต่นั่นเองก็ทำให้เกิดข้อกังวลเช่นกัน เพราะในมุมของฮูบาเซคหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้ถือเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมากเท่าที่ควร