นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยนักโต้คลื่น LED ป้องกันฉลามขาวยักษ์จู่โจม ป้องกันการเข้าใจผิด ที่คิดว่าเราคือแมวน้ำ

มหาสมุทรเป็นสถานที่ที่น่าพิศวง ลึกลับ และอันตราย โดยหนึ่งในนักล่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรคือ “ฉลามขาวยักษ์” ที่มีความสามารถในการล่าเหยื่ออย่างน่าอัศจรรย์ ผ่านการมองเห็นที่เฉียบคมในการค้นหาเหยื่อ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาการมองเห็นด้วยกลไกนี้ทำให้ในปัจจุบัน มนุษย์สามารถแทรกแซงได้เช่นกัน


เพราะล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคควอรี่ได้ค้นพบวิธีการรบกวนสัญญาณภาพของฉลามขาว โดยการทำความเข้าใจว่าฉลามขาวเหล่านี้รับรู้เหยื่อของพวกมันอย่างไร จนได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่รุกล้ำฉลามขาวแต่สามารถกีดกันการโจมตีได้


โดยต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าด้วยธรรมชาติแล้วฉลามขาวยักษ์นั้นพึ่งพาการมองเห็นในการระบุและจับเหยื่อ เช่น แมวน้ำ ด้วยการโจมตีจากด้านล่างอย่างรุนแรง ถึงแม้ฉลามขาวยักษ์จะเป็นสัตว์ที่ตาบอดสีและมีความชัดเจนทางสายตาต่ำ แต่พวกมันชดเชยข้อจำกัดเหล่านี้ด้วยความสามารถในการตรวจจับรูปทรงและเส้นขอบที่แข็งแกร่งมาก โดยเป็นการเล็งจากเบื้องล่างและพุ่งขึ้นมาจู่โจมนั่นเอง


ซึ่งเพราะเหตุนั้นเอง ที่ทำให้บางครั้งฉลามขาวยักษ์ “เข้าใจผิด” ถึงความแตกต่างระหว่างเงาของกระดานเซิร์ฟมนุษย์กับเงาของแมวน้ำ จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการโจมตีมนุษย์ แต่พอศึกษาลงไปมากขึ้นถึงธรรมชาติของฉลามขาวยักษ์เพื่อหาทางป้องกันเหตุดังกล่าว นักวิจัยก็ได้ค้นพบอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่น่าสนใจ นั่นคือความรู้ที่อยู่ในปลามิดชิปแมนแบบเรียบ


ปลามิดชิปแมนแบบเรียบคือหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่มีกลไกการเอาตัวรอดอันแสนชาญฉลาดต่อฉลามขาวยักษ์ โดยพวกมันมีอวัยวะผลิตแสงพิเศษที่เรียกว่า “โฟโตฟอร์” ที่อยู่ด้านใต้ลำตัว ทำให้เมื่อโฟโตฟอร์นี้ปล่อยแสงออกมา การรับรู้เงาของปลาฉลามขาวยักษ์จึงถูกรบกวน เพราะเป็นการยากที่นักล่าของท้องทะเลจะมองเห็นบนพื้นผิวน้ำที่สว่างกว่า


จากแรงบันดาลใจตรงนี้เอง นักวิจัยจึงตั้งคำถามว่าพวกเขาสามารถจำลองกลไกเดียวกันนี้ได้ไหม? ทีมวิจัยจึงได้ทดลองผ่านการสร้างเหยื่อจำลองรูปแมวน้ำที่ติดตั้งไฟ LED โดยใช้กลยุทธ์การค่อมแสง (Counterillumination) ใน Mossel Bay ประเทศแอฟริกาใต้ที่มีประชากรฉลามขาวสูงเพื่อดึงดูดฉลาม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นถือว่าน่าสนใจมาก เพราะจำลองนี้สามารถป้องกันไม่ให้ฉลามขาวมายุ่งกับเหยื่อได้จริง แถมยังเป็นการแทรกแซงที่ไม่ได้ทำอันตรายต่อฉลามขาวยักษ์อีกต่างหาก


จากผลการทดลองนี้เอง ทีมวิจัยจึงได้ระบุว่าองค์ความรู้นี้มีศักยภาพพอที่จะนำมาพัฒนาต่อ เพราะมีโอกาสสูงที่จะลดความเสี่ยงของการโจมตีจากฉลามได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์นวัตกรรมที่มีเทคโนโลยีไฟ LED ใต้บอร์ดของนักโต้คลื่น นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับมนุษย์ได้ด้วย