ไม่ได้มีแค่ ‘วิกฤติวัยกลางคน’ อีกแล้ว ปัจจุบันกำลังมี ‘วิกฤติวัยรุ่น’ ยืนยันผ่านงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ล่าสุด

แม้อาจไม่เคยถึงวัยนั้น แต่เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘วิกฤติวัยกลางคน’ เป็นแน่ ที่หมายถึงช่วงชีวิตวัยกลางคนที่ประสบปัญหากับการตั้งคำถามถึงความสุขในชีวิต จนหลายครั้งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในวัยกลางคนที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมาหลังจากนั้น


แต่เคยสงสัยไหม? ว่าทำไมเรื่องราวดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจนกลายเป็นแบบแผนที่หลายคนทั่วโลกเจอในช่วงเวลาเดียวกัน หรือมากไปกว่านั้น เคยตั้งคำถามไหม? ว่าวิกฤติดังกล่าวปัจจุบันยังคงเป็นแบบนั้นอยู่ไหม


คำถามข้างต้นนั้นเอง ที่ถูกนำมาอธิบายตนเป็นงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances โดยงานวิจัยเริ่มต้นด้วยการบรรยายว่ากรอบแนวคิด ‘วิกฤติวัยกลางคน’ นั้นแท้จริงแล้วเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นี้เอง แต่ในขณะเดียวกัน หลักฐานใหม่ที่พวกเขาได้ค้พบก็ได้สร้างความเข้าใจใหม่ เพราะการศึกษาชี้ให้เห็นว่าความทุกข์ในช่วงวัยกลางคนไม่ได้มีนัยสำคัญ ‘เพียงอย่างเดียว’ เหมือนเดิมในโลกปัจจุบันอีกต่อไป กล่าวคือจากที่กราฟความสุขของมนุษย์ที่ถูกเข้าใจว่าเป็น "U-curve" แบบสมบูรณ์ตามการศึกษาเมื่อครั้งอดีต ปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะมีอีกหนึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นมาก่อนการลากโค้งลงของรูปตัว U นั่นคือวิกฤติใหม่ที่กำลังเกิดในหมู่วัยรุ่น


โดยเดวิด แบลนฟลาวเวอร์ หนึ่งในผู้วิจัยหลักของการศึกษาครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงผลการวิจัยว่าด้วยโลกปัจจุบัน ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตในช่วงวัยกลางคนนั้นไม่ได้มีนัยสำคัญเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือแนวโน้มที่จะสูงและสำคัญมากขึ้นในหมู่วัยรุ่น กล่าวคือเกิดเป็น “วิกฤติความสิ้นหวังในหมู่วัยรุ่น” เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และความเป็นไปของเจเนอเรชันที่ทำให้วัยรุ่นในยุคสมัยใหม่ มีโอกาสแบกรับความกดดันจนกลายเป็นความสิ้นหวังได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อครั้งอดีต


ดังนั้น ในมุมของงานวิจัย ผู้ทำการศึกษาจึงเสนอว่าวิกฤติวัยกลางคนอาจต้องถูกพิจารณาใหม่ในบริบทที่กว้างขวางขึ้นแล้ว เนื่องจากความสุขและสุขภาพจิตไม่สามารถเข้าใจได้จากทฤษฎีที่เรียบง่าย จึงควรให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งวิกฤติในวัยกลางคนและในวัยรุ่น เพราะทั้งสองกลุ่มมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขรวมของสังคมอย่างลึกซึ้ง