สำหรับในปัจจุบัน คอนเทนต์หรือการเล่าเรื่องแบบเสียงถือเป็นหนึ่งในสื่อหลักที่เราเลือกเสพ ไม่ว่าจะในรูปแบบที่ประกอบกับภาพเคลื่อนไหว หรือที่มีเพียงแค่เสียงอย่างเดียว แต่ไม่ว่าจะชอบรูปแบบไหน ด้วยเทคโนโลยีในยุคสมัยนี้ทำให้เราเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกเวลาก็ทำให้สื่อดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของชีวิตใครหลายคน
แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้ว ราวๆ ปี 1940-1950 ด้วยนวัตกรรมในยุคสมัยนั้น สื่อหลักของทุกคนใช้จะเป็นการอ่านเป็นหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ ส่วนสื่อที่ใช้เสียงก็มีเพียงวิทยุที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงผู้คนหมู่มากได้ทุกที่ กล่าวคือเครื่องรับสัญญาณวิทยุนั้นยังคงเป็นแบบติดตั้ง ไม่ใช่แบบพกพา ดังนั้นถึงจะเล็งเห็นว่าเป็นก้าวต่อไปที่จะเข้ามาเสริมสื่อสิ่งพิมพ์แบบเดิม การใช้วิทยุก็ยังถือเป็นข้อจำกัดสำหรับการใช้อยู่ แต่นั่นก็ทำให้เกิดความพยายามหาทางออกในยุคนั้นเช่นกัน ในการทำให้วิทยุเข้าถึงคนได้ทุกที่
ยกตัวอย่างเช่นนวัตกรรมสุดแปลกที่เกิดขึ้นในปี 1949 โดยวิคเตอร์ โฮฟลิช นักประดิษฐ์ในสหรัฐอเมริกา ที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยจัดงานแถลงข่าวเพื่อแนะนำนวัตกรรมจากไอเดียของเขาในนาม “Man from Mars, Radio Hat” หรือ “หมวกวิทยุผู้มาจากดาวอังคาร” ผ่านการนำเสนอที่แปลกใหม่โดยการใช้นายแบบและนางแบบวัยรุ่นหลายคนมาสวมใส่หมวกวิทยุดังกล่าว ก่อนประกาศว่านี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่กำลังจะวางขายในเร็ววัน
สำหรับแนวคิดในการประดิษฐ์ โฮฟลิชเล่าว่าหมวกวิทยุเกิดจากวิสัยทัศน์ของเขาที่ต้องการให้ผู้คนสามารถ “ฟังวิทยุได้ในทุกที่ทุกเวลา” เขาจึงนึกถึงหมวกที่ในสมัยนั้นคือเครื่องแต่งกายหลัก โดยโฮฟลิชได้ออกแบบหมวกแบบใหม่ที่มีลักษณะเป็นหมวกปีกกว้างพร้อมประกอบเทคโนโลยีหลอดสูญญากาศเข้าไป โดยถึงแม้หลอดทรานซิสเตอร์จะถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1947 มาก่อนแล้ว แต่ในจังหวะนั้นยังคงอยู่ในระยะทดลองและยังไม่ได้รับความนิยมกว้างขวาง โฮฟลิชจึงเลือกใช้ หลอดสูญญากาศที่มองเห็นได้และเสาอากาศที่ทำหน้าที่เป็นเสาในการรับสัญญาณวิทยุที่ต้องการ
โดยเมื่อเปิดตัว หมวกวิทยุพร้อมวางจำหน่ายตามร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าและจำหน่ายทางไปรษณีย์ทันที นอกจากนี้ยังมีการโปรโมตให้บริการในปั๊มน้ำมันของแคลิฟอร์เนียด้วย ในราคา 7.95 ดอลลาร์ พร้อมสีสันของหมวกที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย
ในแง่ของการได้รับการพูดถึง เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอเดาได้ ว่าหมวกวิทยุเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจในทันทีด้วยนวัตกรรมที่ดูเหมือนนำสมัย แต่ถึงแม้ว่าวิธีการตลาดและการประชาสัมพันธ์จะประสบความสำเร็จในระยะสั้น ในทางกลับกันยอดขายหมวกวิทยุกลับไม่ยั่งยืน เนื่องจากความล้มเหลวทางเทคนิค กล่าวคือหมวกวิทยุมีหลอดสูญญากาศเพียงแค่ 2 หลอด แต่ในขณะที่วิทยุในบ้านมักจะมี 5-6 หลอดทำให้ประสิทธิภาพในการรับสัญญาณต่ำกว่า นอกจากนี้เสาอากาศยังมีคุณสมบัติที่รับสัญญาณเฉพาะทิศทาง ทำให้ผู้ใช้สูญเสียการได้รับสัญญาณแค่เพียงหันศีรษะไปทางอื่น ส่งผลต่อความยุ่งยากในการใช้ สุดท้ายยอดขายจึงลดลงในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งวิทยุทรานซิสเตอร์เกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีต่อมา หมวกวิทยาจึงหายไปการรับรู้คนในที่สุด
แต่เราเรียนรู้อะไรจากหมวกวิทยุได้บ้าง? อย่างแรกเลยคือความสำเร็จของนวัตกรรมไม่ได้มาจากการตลาดเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย แต่ถ้ามองแค่ในขั้นต้น หมวกวิทยุก็ให้อีกหนึ่งบทเรียนที่สำคัญเช่นกัน ว่าอย่างน้อยในก้าวแรกนี่ก็เป็นนวัตกรรมที่สามารถการระบุข้อจำกัดได้อย่างชัดเจน จนนำมาสู่ความพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้
ดังนั้นแม้จะเกิดขึ้นมาเกือบร้อยปี แต่นวัตกรรมหมวกวิทยุก็ยังสามารถสอนเราให้เข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมที่เข้ากับความเป็นจริงของตลาด และการเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบที่หลากหลาย กล่าวคือเป็นเครื่องเตือนใจเราเสมอว่านวัตกรรมควรตอบโจทย์และเกิดประโยชน์ต่อผู้คนในปัจจุบันอย่างยั่งยืน
ส่วน EP หน้า ‘ณ WHAT!? ตะกรรม’ จะพาทุกคนย้อนความไปเจอนวัตกรรมในอดีตอะไรอีกบ้าง เกาะขอบจอติดตามได้ที่นี่เลยนะ