“ฮีทสโตรก” ภัยร้ายหน้าร้อน
รู้ก่อน ช่วยทัน ป้องกันได้!
------------------
เข้าสู่เดือนเมษายนกันแล้ว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเดือนที่ร้อนจัดที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะในปีนี้ ที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าบางจังหวัดอาจมีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 43 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว แม้คนไทยเราจะเคยชินกับอากาศร้อน แต่อุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ร่างกายของเราปรับตัวไม่ทันเช่นกัน และอาจนำไปสู่ภัยร้ายประจำหน้าร้อนที่หลายคนอาจมองข้ามไป อย่าง “ฮีทสโตรก”
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ #โรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถือว่าเป็นหนึ่งในภัยร้ายที่มากับหน้าร้อน และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลยทีเดียว
ซึ่ง สาเหตุของฮีทสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Classical Heat Stroke เกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดมากเกินไป มักเกิดในช่วงมีคลื่นความร้อนสูง (Heat Wave) และอยู่ในสถานที่ที่ปิดมิด ไม่มีที่ระบายอากาศ พบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ฮีทสโตรกประเภทนี้ยังสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกวัยได้เช่นกัน
- Exertional Heat Stroke เกิดจากการใช้กำลังกายที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มคนอายุน้อย นักกีฬา และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
“รู้ก่อน” สัญญาณสำคัญของภาวะฮีทสโตรกเป็นอย่างไร
ฮีทสโตรกไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่เราสัมผัสอากาศร้อน แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน หรือมีการใช้แรงเยอะ ๆ ในสภาพอุณหภูมิที่สูง ซึ่งอาการของฮีทสโตรกที่เราสามารถสังเกตได้ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อนจัด อุณหภูมิร่างกายสูง ไปจนถึงมีไข้ รู้สึกกระหายน้ำมาก แต่ไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังและหน้ามีสีออกแดงกว่าปกติ ซึ่งอาจตามมาด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย หายใจเร็ว รวมถึงมีอาการใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ
ซึ่งหากยังอยู่ในสภาวะนั้นต่อไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดอาการชักเกร็ง หมดสติ ไปจนถึงอาการโคม่า และยิ่งปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่ได้รับการปฐมพยาบาลหรือไม่ได้รับการรักษานานเท่าไร โอกาสในการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
รู้วิธีปฐมพยาบาลไว้ ให้ “ช่วยทัน” เวลา
ถ้าหากพบเจอผู้ที่มีภาวะฮีทสโตรก ก่อนนำส่งโรงพยาบาล เราควรทำให้ร่างกายของเขามีอุณหภูมิลดลงให้ได้มากที่สุดก่อน ซึ่งเริ่มจากการพาผู้ป่วยหลบเข้าร่ม หรือห้องที่มีความเย็นในทันที จัดให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง คลายเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว หรือประคบน้ำแข็งตามข้อพับ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิลดลงได้ไวขึ้น
หากผู้ป่วยไม่หมดสติ ให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดน้ำ แต่หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคง เพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ จากนั้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
หน้าร้อนคอยระวัง “ป้องกันได้”
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการป้องกันการเป็นฮีทสโตรก คือ การหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งถ้าหากเลี่ยงได้ยาก ก็ควรดื่มน้ำให้มาก เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายสามารถทำตัวให้เย็นลงได้ตามธรรมชาติผ่านทางเหงื่อ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดตัวจนเกินไป หากมีความจำเป็นต้องออกกำลังหนักหรือใช้ร่างกายมาก ให้เลี่ยงการทำกิจกรรมเหล่านี้ในช่วงร้อนจัดที่สุดของวัน
สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว อาจต้องคอยสังเกตอาการตัวเองมากเสียหน่อย ในช่วงที่อากาศร้อนจัดเช่นนี้ ถ้าเริ่มมีอาการที่เข้าข่ายฮีทสโตรก ควรรีบปฐมพยาบาลตามขั้นตอนข้างต้น และรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวทันที
ด้วยภาวะอากาศร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ฮีทสโตรกจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเกิดขึ้นได้ยากอีกต่อไป ขอให้ทุกคนอย่าลืมรักษาสุขภาพ และคอยสังเกตอาการตัวเองให้ดี เพื่อไม่ให้ภัยร้ายนี้เกิดขึ้นกับตัวเรา
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก bangkokhospital-chiangmai.com