ป้องกันภัยและยั่วเพศ สัตว์เริ่มมีสีเพราะอะไร? งานวิจัยพบว่านี่คือกลไกที่เกิดมาร้อยล้านปีแล้ว

ถ้าลองพิจารณาตามธรรมชาติ เราจะพบว่า “สี” ถูกใช้ในการสื่อสารและสื่อความหมายในแง่มุมต่างๆ อย่างแพร่หลายในหลากสายพันธุ์สัตว์ ไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นนกยูงที่แพนหางโดดเด่นที่ประดับประดาไปด้วยลวดลายเพื่อดึงดูดใจตัวเมียในการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ สัตว์มีพิษหลายชนิดเองก็ยังแสดงสีที่เด่นชัดเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น งูพิษหลากหลายชนิดและกบพิษสีสันสดใสในอเมริกากลางและใต้ ที่ใช้สีของร่างกายเพื่อเตือนภัยแก่สัตว์ล่าเหยื่อที่อาจเข้ามาโจมตี


แต่เคยสงสัยไหมว่าจุดตั้งต้นของการใช้สีในสรรพสัตว์ เกิดขึ้นตอนไหน? และอย่างไร?


คำถามดังกล่าว ถูกหาคำตอบแล้ว ผ่านการศึกษาล่าสุดจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาและถูกตีพิมพ์ในวารสาร Biological Reviews ที่ได้วิเคราะห์ขอบเขตการวิวัฒนาการของการมองเห็นสีในสัตว์และหน้าที่ที่แตกต่างกันของสีในสัตว์และพืช โดยสีที่ว่านี้ ทีมวิจัยเลือกพิจารณาสีที่โดดเด่นออกมาจากพื้นหลังของธรรมชาติ อย่างสีแดง สีเหลือง สีส้ม สีน้ำเงิน และสีม่วงเป็นหลัก


ซึ่งจากการวิเคราะห์ทางสถิติผ่านข้อมูล การศึกษาครั้งนี้พบว่าการมองเห็นสีพัฒนาในสัตว์มามากกว่า 100 ล้านปีแล้ว ก่อนการเกิดขึ้นของผลไม้และดอกไม้ที่มีสีสันเสียอีก โดย John J. Wiens ศาสตราจารย์ในภาควิชาวิวัฒนาการเชิงนิเวศขอวิทยาของมหาวิทยาลัยแอริโซนาและผู้นำการวิจัยครึ้งนี้ ได้อธิบายไว้ว่าการมองเห็นสีในสัตว์นั้นวิวัฒนาการมาประมาณ 500 ล้านปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผลไม้ที่มีสีสันปรากฏขึ้นประมาณ 350 ล้านปีที่ผ่านมา และดอกไม้ที่มีสีสันประมาณ 200 ล้านปีที่ผ่านมา


แต่พอไล่เรียงตามไทม์ไลน์ต่อมาเรื่อยๆ เวียนส์ได้ค้นพบจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ คือเมื่อประมาณ 150 ล้านปีก่อน ตามข้อมูลวิวัฒนาการ พบว่าสัตว์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เริ่มมีการใช้ “สี” เพื่อการเตือนภัยและการดึงดูดทางเพศจำนวนหลายสายพันธุ์มาก โดยเวียนส์ใช้คำว่า “ราวกับการเกิดระเบิดออก” แต่ถ้าเอาสายพันธุ์ที่โดดเด่น งานวิจัยครั้งนี้เลือกศึกษาปลาครีบฉลามในสภาพแวดล้อมทางทะเล นกบนท้องฟ้า และกิ้งก่าบนแผ่นดินเป็นหลัก


ซึ่งการเลือกศึกษาต่อเนื่องจากข้อมูลที่ค้นพบนี่เอง ที่ทำให้ทีมวิจัยเจอข้อสังเกตุเพิ่มเติม ว่าสัตว์ที่มีการใช้สีเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ กลับมาการพัฒนาทางสายตาที่ไม่ดีเอาเสียเลย ทีมวิจัยจึงอนุมานว่าอาจเป็นเพราะสัตว์ที่มีสีสันไม่จำเป็นต้องมีการมองเห็นสีที่ดีเพื่อส่งสัญญาณอันตรายไปยังสัตว์อื่น และในมุมกลับกัน สัตว์ที่เป็นผู้ล่า จึงมีวิวัฒนาการของการเห็นสีมากกว่านั่นเอง


แต่ถ้าเป็นแง่มุมของการใช้สีเพื่อพูดดึงดูดทางเพศ ทีมวิจัยพบว่าสัตว์ที่มีการใช้สีในรูปแบบดังกล่าวจะมีวิวัฒนาการของการมองเห็นสีในระดับที่ดี สาเหตุเพราะความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ โดยกลุ่มสายพันธุ์สัตว์ที่ค้นพบคือคือสัตว์มีกระดูกสันหลัง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงสัตว์ขาปล้องอย่างแมลงและแมงมุมด้วย


"ในอนาคต มันจะน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกในการศึกษาของเรา เพื่อไขความลับว่าอะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อนความสามารถของสัตว์ในการมองเห็นสีตลอดหลายร้อยล้านปีที่ผ่านมา" เวียนส์กล่าวทิ้งท้าย