เทคโนโลยี GenAI กำลังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงไม่ใช่ว่าใช้ได้ไหม แต่เป็นต้องใช้อย่างไรมากกว่า
ซึ่งจากความสงสัยนั้นเอง ที่ทำให้เกิดการศึกษาตามมา เช่นบทความล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Human Behaviour ที่ได้ชี้ให้เห็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และบริษัทเทคโนโลยี ในการปรับใช้เทคโนโลยี GenAI เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของมนุษย์ในทุกระดับการศึกษาและในสถานที่ทำงาน
โดยการพิจารณาที่สำคัญได้แก่ ความเข้าใจในการใช้ GenAI เพื่อเพิ่มพูนการเรียนรู้ของมนุษย์ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์และการสะท้อนตนเอง เพื่อให้มนุษย์สามารถเป็นพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพกับ GenAI ได้ ซึ่งศาสตราจารย์ Dragan Gasevic ผู้อำนวยการศูนย์การวิเคราะห์การเรียนรู้ (CoLAM) ที่มหาวิทยาลัยโมนาช และเป็นผู้เขียนบทความวิจัยนี้ ได้กล่าวว่าเครื่องมือ AI อันทรงพลังกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้ว โดยจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิตของผู้คนทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ลองจินตนาการถึงนักเรียนที่เข้าร่วมการอภิปรายกับ AI ของโสเครตีส เพื่อสำรวจปรัชญากรีกโบราณ หรือเรียนรู้เทคนิคการวาดภาพสไตล์อิมเพรสชั่นนิสต์จากหุ่นยนต์ที่เลียนแบบโคลด โมเนต์ หรือแม้กระทั่งการเห็นภาพทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์ในโลกเสมือน” ศาสตราจารย์กาซีวิชกล่าว
“การรวมกันในลักษณะนี้ต้องการวิธีการเรียนรู้ที่ซับซ้อน ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับ GenAI และการเรียนรู้ด้วย GenAI ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการพัฒนาเครื่องมือการศึกษาอย่างรอบคอบ โดยอาศัยข้อมูลจากการวิจัยที่เข้มงวดและการสนับสนุนจากการร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และนโยบายของรัฐบาลในการหาค่าตรงกลางที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ได้มากและดีที่สุด”
จดนี้เองที่ศาสตราจารย์กาซีวิชชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้อาจถึงเวลาต้องคิดใหม่ทำใหม่ ทำตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างเหมาะสม เช่น การประเมินผลที่ควรให้รางวัลกับความรู้ที่แท้จริงและการพัฒนาทักษะ แทนที่จะเป็นการสร้างภาพลวงตาจาก AI ที่เกิดขึ้น และครูควรได้รับการสนับสนุนในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ภูมิทัศน์ GenAI ใหม่ ในขณะเดียวกันควรส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ และป้องกันการพึ่งพา GenAI มากเกินไปไปพร้อมกันด้วย
อีกทั้งบทความยังเน้นย้ำด้วยว่าผู้กำหนดนโยบายและบริษัทเทคโนโลยีจะต้องรับผิดชอบเป็นตัวหลักสำคัญในการพัฒนาแนวทางจริยธรรมที่เหมาะสมและคำนึงถึงความครอบคลุมในการกำกับดูแลและออกแบบเครื่องมือ GenAI สำหรับการศึกษา เพราะแม้ว่าเครื่องมือ AI สามารถช่วยเพิ่มกระบวนการเรียนรู้และศักยภาพ แต่ก็ยังมีปัญหาด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ความโปร่งใส ความเป็นส่วนตัว และความเท่าเทียม
ดร.ลี่เซียง หยาน อีกหนึ่งผู้เขียนบทความและนักวิจัยได้กล่าวว่าการปรับปรุงความรู้ด้าน AI สำหรับนักเรียนและครูเป็นหนึ่งในความต้องการที่สำคัญเพื่อให้การบูรณาการ AI เข้ากับการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้การมุ่งเน้นความสำคัญของครูเป็นไปอย่างถูกทาง
“เราคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของครู โดยการใช้ GenAI จะช่วยลดภาระในการกระจายความรู้ใจ ทำให้ครูสามารถมุ่งเน้นที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับนักเรียนในฐานะที่ปรึกษาและผู้ช่วย” ดร.ยาน กล่าว
ในปัจจุบัน นักวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษากับนักเรียนระดับมัธยมใน 10 ประเทศทั่วสี่ทวีป โดยใช้เครื่องมือ GenAI ที่เป็นนวัตกรรมในการอธิบายและส่งเสริมทักษะของมนุษย์ในยุคของ AI โดยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนและครูในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง