ถ้ายึดตามข้อมูลทางการแพทย์ หนึ่งในอาการหลักของผู้ป่วยจิตเภทคืออาการ ‘หูแว่ว’ โดยอาจเป็นได้ทั้งอาการหูแว่วที่ได้ยินเสียงดังขึ้นมาพร้อมๆ กันกับสิ่งที่ตนเองคิด, หูแว่วได้ยินเสียงคนมากกว่าสองคนถกเถียงหรือออกความคิดเห็นกัน ไปจนถึงหูแว่วเสียงก่นด่าหรือพูดวิจารณ์การกระทำต่าง ๆ ของผู้ป่วยเอง โดยอาการนี้สร้างผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างใหญ่หลวง
แต่งานวิจัยล่าสุด โดยสถาบันจิตเวชศาสตร์ จิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ (IoPPN) แห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอนได้เสนอแนวทางรักษาใหม่ที่น่าสนใจ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแห่งยุคสมัย โดยให้ผู้ป่วยได้บำบัดอาการหูแว่วดังกล่าวด้วยอวตารที่ใช้แอนิเมชันคอมพิวเตอร์ พวกเขาได้แสดงความเห็นว่านี่คือวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่หูแว่วได้เป็นอย่างดี
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าตัวละครดิจิทัลหรืออวตารสามารถช่วยผู้ที่มีอาการจิตเภทลดการได้ยินเสียงรบกวนและความทุกข์ที่เกิดจากเสียงเหล่านั้นได้ โดยผู้วิจัยได้บรรยายว่าการบำบัดนี้มีใช้การสนทนาที่ผู้ป่วยสามารถพูดคุยกับอวตารที่เป็นตัวแทนของเสียงที่สร้างความกังวลในใจแก่พวกเขาเพื่อ ‘ปรับความเข้าใจกัน’ โดยเฉพาะเสียงที่มักมีลักษณะดูหมิ่นหรือกลั่นแกล้งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เนื่องจากเสียงเหล่านี้มักมีพลังมากจนผู้ฟังรู้สึกเหมือนเสียงเหล่านั้นรู้ความคิดและความรู้สึกของตน ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินชีวิตตามที่ต้องการได้
ฟิลิปปา การ์เรตี ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจิตวิทยาคลินิกที่ IoPPN กล่าวว่า “นี่คือการแทรกแซงที่มีผลโดยตรงและยั่งยืนต่อความถี่ที่ผู้ป่วยได้ยินเสียง โดยเราพบว่าวิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยหูแว่วน้อยลงหรือเสียงหายไปได้โดยสิ้นเชิง ทำให้ส่งผลดีต่อชีวิตประจำวันของผู้ที่ได้รับผลกระทบ”
ก่อนเริ่มบำบัด ผู้ป่วยจะทำการสร้างอวตารที่แสดงถึงเสียงที่พวกเขาได้ยินร่วมกับนักบำบัด โดยในเซสชันจะมีการสนทนาแบบสามทางระหว่างผู้ได้ยินเสียง นักบำบัด และอวตาร นักบำบัดจะใช้เสียงของตนเองและซอฟต์แวร์แปลงเสียงเพื่อให้เหมาะสมกับรายละเอียดที่ผู้ป่วยให้มา และหลังจากผ่านหลายเซสชัน ผู้เข้าอบรมจะเริ่มเรียนรู้ที่จะไม่ให้น้ำหนักแก่เสียงเหล่านั้นและควบคุมมันได้ดียิ่งขึ้น
"ก่อนการบำบัด ฉันได้ยินเสียงที่ดูหมิ่นมากถึง 30 หรือ 40 เสียงต่อวัน แต่หลังจากบำบัด เสียงเหลือเพียงประมาณสี่หรือห้าเสียง ทำให้ฉันรู้สึกว่าได้คืนการควบคุมในชีวิตกลับมาอีกครั้ง" นิค หนึ่งในผู้เข้าร่วมการทดลองดล่าวทิ้งท้าย