ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้พัฒนาวัสดุใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกู้คืนทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าวัสดุดูดซับที่เคยใช้มาก่อนถึง 10 เท่า โดยวัสดุนี้เป็น ‘ฟอง’ น้ำที่ทำจากกราฟีนออกไซด์ (graphene oxide) และไคโตซาน (chitosan) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการสกัดทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เดิมที่ทั้งสกปรก มีผลผลิตต่ำ และส่งผลให้เกิดมลพิษที่เป็นพิษด้วย
โดยทีมวิจัยได้ตีพิมพ์การนำเสนอนี้ในรายงานวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences พร้อมบรรยายว่าพวกเขาทดสอบวิธีการนี้โดยใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์จริงที่ได้รับจากบริษัทรีไซเคิล จนได้คนพบว่าฟองน้ำสุดล้ำนี้ไม่เพียงแต่สามารถสกัดทองคำได้ แต่ยังสามารถทำให้ทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับคืนสู่สภาพโลหะได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย
“เราพัฒนาวัสดุคอมโพสิตที่มีความสามารถในการสกัดและลดทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นักวิจัยกล่าว “วิธีการนี้ทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจจากสิ่งที่ถูกทิ้ง อีกทั้งเรายังสามารถทำงานนี้ได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานด้วย”
ในแง่ของกระบวนการ ฟองน้ำที่พัฒนาขึ้นนี้ชี้วัดความสามารถในการสกัดทองจากความสามารถสกัดไอออน Au3+ ที่ฟองน้ำทำได้ประมาณ 17 กรัมต่อกรัม และไอออน Au+ ได้มากกว่า 6 กรัมต่อกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่ากระบวนการสกัดใด ๆ ที่รู้จักกันมาแล้วถึง 10 เท่า
โดยการค้นพบนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพในการกู้คืนทองคำ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แถมทีมวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมไว้ด้วยว่าเทคนิคดังกล่าวสามารถปรับใช้เพื่อกู้คืนโลหะมีค่าอื่น ๆ เช่น เงิน แพลตินัม หรือพัลลาเดียม จากขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือแม้กระทั่งเศษวัสดุในการทำเหมืองแร่ ก็สามารถทำได้
หรือไปไกลหลายวงการกว่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ เช่น การกรองโลหะหนักจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนหรือของเสียอุตสาหกรรม เหล่านี้คือสิ่งที่นวัตกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มจะทำได้เช่นกัน และนั่นก็เป็นแนวทางการศึกษาที่ในอนาคตผู้วิจัยตั้งใจจะเดินทางไปถึงด้วย