ย้อนเวลากลับไปกว่า 70 ปีก่อน ในภูมิทัศน์ของประเทศอังกฤษ ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 สังคมอังกฤษกำลังเริ่มเผชิญกับปัญหาการโจรกรรมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความกลัวและปัญหาสังคม แต่ในเวลาเดียวกันนั้น นวัตกรรมและไอเดียของการประดิษฐฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาก็กำลังเป็นที่นิยมเช่นกัน
ดังนั้นในเมื่อปัญหาการโจรกรรมอย่างการล้วงกระเป๋ากำลังกลายเป็นความกังวลหลัก นวัตกรรมที่หวังจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่าง "กระเป๋ากันขโมย" หรือ Anti-bandit Bag จึงเกิดขึ้น แถมได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมากในช่วงเปิดตัวด้วยนะ
กระเป๋านี้ถูกคิดค้นโดย John H. T. Rinfret ผู้ที่ออกตัวว่าตัวเอง ‘มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ที่มักตกเป็นเป้าหมายของโจรกรรมเป็นประจำ’ ทำให้เขาได้ออกแบบกระเป๋าแบบใหม่ ให้ประกอบไปด้วยสปริงที่ติดอยู่กับด้ามจับ ดังนั้นถ้าหากมีโจรพยายามทำการขโมยกระเป๋า ผู้ใช้เพียงแค่ต้องงอหัวแม่มือ กระเป๋าก็จะระเบิดเปิดออกและทำให้ของที่อยู่ภายในหล่นลงมา(?) โดยรินเฟรตบรรยายว่าเขาคาดหวังว่าสถานการณ์นี้จะทำให้โจรตกใจและต้องถอยหนีไป
รินเฟรตเล่าให้สื่อในเวลานั้นฟังเพิ่มเติมด้วยว่าเขามุ่งเป้าที่ไปที่กลุ่มเป้าหมายอย่างผู้ที่มีหน้าที่ขนส่งเงินผ่านธนาคารหรือหน้าที่ที่รินเฟรตต้องทำเองนั่นแหละ โดยกลไกหลักอย่างการระเบิดกระเป๋าให้โจรตกใจแล้ว รินเฟรตยังได้อธิบายถึงที่มาไว้ด้วยว่ากระเป๋าดังกล่าว จริงๆ แล้วก็ได้แรงบันดาลใจมาจากกระเป๋ากันขโมยเมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่มีกลไกคือการบรรจุก๊าซเคมีไว้ในกระเป๋า เชื่อมกับที่จับของกระเป๋าที่มีสายหนาโยงไปยังข้อมืออีกทีหนึ่ง การขยายของสายถ้าถูกกระชากกระเป๋าจะทำให้เกิดการตอบสนองโดยอัตโนมัติ กล่าวคือกระแสไฟฟ้าจะเกิดขึ้นและส่งต่อไปจนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเคมีออกมาในที่สุด ซึ่งก๊าซที่ว่านี้มีสีแดง ทำให้เกิดการเปื้อนที่เสื้อผ้าของโจร เช่นเดียวกับเงินสดที่โจรอาจหยิบวิ่งหนีไปด้วย ทำให้การจับกุมโจรเป็นไปได้ง่ายมากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หลังจากฮือฮากับช่วงเปิดตัวไปแล้ว ดูเหมือนการนำกระเป๋ากันขโมยรุ่นแรกไปใช้จริงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่หวังเท่าไหร่ เพราะหลักใหญ่ใจความสำคัญคือการที่กระเป๋าสิ่งประดิษฐ์ดูแปลกตามากจนโดดเด่นเห็นชัดเกินไป ทำให้ไม่มีใครซื้อไปใช้จริง ดังนั้นในปี 1963 กระเป๋ากันขโมยของรินเฟรตจึงได้รับการพูดถึงหนาหูในช่วงแรกอย่างมาก ราวกับประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเมื่อครั้งกระเป๋าก๊าซเปิดตัว เพราะทุกคนตื่นเต้นว่าการแทนที่การปล่อยก๊าซด้วยกระเป๋าที่ระเบิดได้อาจเป็นไอเดียที่ดีก็ได้
แต่เราก็น่าจะเดาตอนต่อไปกันได้ใช่ไหม ว่าสุดท้ายนี่ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ได้รับการพูดถึงในตอนแรก และหลังจากนั้นก็เงียบหายไปอยู่ดี กล่าวคือผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่อย่างไรก็ตามนวัตกรรมทั้งสองนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยที่มนุษย์ต้องการหาทางแก้ปัญหาการโจรกรรมด้วยนวัตกรรมเหมือนกันนะ เป็นหนึ่งในรอยทางความพยายามที่น่าสนใจและเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลยล่ะ
ส่วน EP หน้า ‘ณ WHAT!? ตะกรรม’ จะพาทุกคนย้อนความไปเจอนวัตกรรมในอดีตอะไรอีกบ้าง เกาะขอบจอติดตามได้ที่นี่เลยนะ