นักวิจัยหาคำตอบ ทำไม QR Code บนขวดน้ำถึงสแกนยาก? พร้อมเสนอนวัตกรรมการแก้ไขผ่านวิธีการดึงพื้นผิว

เคยสแกน QR Code ไม่ติดหรือติดยากกันบ้างไหม? เราเคย โดยถ้าให้ย้อนนึก จะมี 2 สถานการณ์ที่จะทำให้การสแกน QR Code มีปัญหา คือภาพ QR Code มีความคมชัดต่ำ กับอีกกรณีคือ QR Code อยู่บนิพื้นผิวที่โค้งหรือเอียงอย่างขวดน้ำ ทำให้การแสกนเป็นไปได้ยากกว่าที่คิด


แต่รู้ไหมว่าในตอนนี้ มีงานวิจัยที่พยายามหาคำตอบของปัญหาดังกล่าวแล้ว แถมยังคิดวิธีการแก้ไขมาให้อีกต่างหาก โดยเกิดขึ้นจากฝีมือของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาและมหาวิทยาลัยเปิดคาตาโลเนีย ที่ได้ออกแบบกลไกที่ช่วยให้สามารถรับรู้ QR code ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนได้มากขึ้น กล่าวคือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นผิว โดยถือเป็นข้อเสนอทางเทคโนโลยีครั้งแรกที่สามารถรวมกลไกทั่วไปเข้ากับบาร์โค้ดสองมิติได้


การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสาร Pattern Recognition Letters โดยมีผู้เขียนนำคือศาสตราจารย์อิสมาเอล เบนิโต จากวิทยาลัยฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา และภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชีวการแพทย์ และทีมนักวิจัยอีกมากที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสตาร์ทอัพ ColorSensing, SL ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการติดฉลากอัจฉริยะ ทำให้ในงานวิจัย พวกเขาจึงสามารถบอกเล่าข้อมูลเชิงผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง ว่าในปัจจุบัน หนึ่งในปัญหาหลักสำหรับการอ่าน QR Code คือการสแกนบนพื้นผิวเอียง โดยเฉพาะทรงกระบอกที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเนื่องจากระยะห่างระหว่างกล้องและ QR Code ไม่เท่ากันในแต่ละส่วนของภาพนั่นเอง


แต่เพราะเล็งเห็นต้นเหตุนั้น พวกเขาจึงได้เริ่มศึกษาและหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ จนนำมาสู่การพัฒนาอัลกอริธึมที่สามารถ “ดึงพื้นผิว” ที่ QR code ตั้งอยู่ขึ้นมาให้เท่ากันทั้งภาพได้ โดยใช้ฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า ‘ฟังก์ชันสไพล์’ ในการนำมาใช้เพื่อปรับรูปทรงพื้นผิวให้เป็นไปตามลักษณะที่เหมาะสม โดยเบนิโตกล่าวว่าฟังก์ชันเหล่านี้สามารถปรับแต่ละจุดพื้นผิวของพื้นผิวอย่างเฉพาะเจาะจงและสามารถนำมาใช้ในหลากหลายสาขา ไม่จำกัดอยู่แค่สินค้าบริโภคอย่างเดียว แต่วงการอื่นอย่างธรณีวิทยาหรือการแก้ไขภาพถ่ายก็สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมของพวกเขาได้เช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นวัตกรรมใหม่นี้จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ในฐานะของนักพัฒนาที่สนใจเรื่อง QR Code เบนิโตก็ได้ทิ้งท้ายเสริมไว้ในงานวิจัยเช่นกัน ว่ายังมีความท้าทายทางเทคโนโลยีอีกมากที่ต้องทำเพื่อปรับปรุงกระบวนการรับรู้ QR code ให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เช่น ความปลอดภัยต่อการสร้าง URL สำหรับ QR Code ปลอม หรือความเร็วในการสร้างและบันทึก เหล่านี้คือแผนงานต่อไปของ ColorSensing ที่น่าจับตาดูเป็นอย่างยิ่ง ว่าอนาคตของฉลากดิจิทัลนั้นจะเป็นอย่างไร