ผลการวิจัยแด่คนชอบกินเผ็ด ถ้ารู้ก่อนว่าเผ็ด พอกินเผ็ดแล้วจะฟินขึ้น โดยอธิบายว่าเป็นผลมาจาก Placebo Effect

ไหนใครชอบกินเผ็ดยกมือขึ้น!

รู้หรือไม่ว่ามีคนหาคำตอบให้ความชอบของพวกเราแล้วนะ


เพราะการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร PLOS Biology เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย Yi Luo จาก East China Normal University และ Kenneth Kishida จาก Wake Forest School of Medicine ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบว่าความคาดหวังของมนุษย์ต่อประสบการณ์ที่น่าพอใจ มีผลต่อการตอบสนองของสมองและความรู้สึกของเราต่อรสเผ็ดอย่างไร


โดยการศึกษานี้บรรยายว่าความคาดหวังเชิงบวกสามารถช่วยลดความเครียดและความเจ็บปวดได้ หรือกล่าวในบริบทนี้ คือถ้าคุณเป็นคนชอบรสเผ็ด และกำลังได้กินสิ่งที่คุณรู้ว่าเผ็ด การบรรลุความคาดหวังนี้จะทำให้คุณเครียดน้อยลง พอใจมากขึ้น แถมยังรู้สึกถึงความเจ็บได้น้อยลงอีกต่างหาก


แต่ในในทางกลับกัน กับคนที่มีความคาดหวังเชิงลบ พวกเขาจะรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นและเจ็บปวดมากขึ้น หรือกล่าวในบริบทนี้ คือถ้าคุณเป็นคนไม่ชอบรสเผ็ด แต่กำลังได้กินสิ่งที่คุณรู้ว่าเผ็ด การบรรลุความคาดหวังเชิงลบนี้จะทำให้คุณเครียดและรู้สึกถึงความเจ็บได้มากกว่าที่ควรจะเป็นอีกต่างหาก


โดยงานวิจัยได้บรรยายว่ากลไกที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ เข้าข่าย “Placebo Effect” (ผลของยาหลอก) หรือปรากฏการณ์ที่มนุษย์ตอบสนองทางกายหรืออารมณ์ดีขึ้นเพียงเพราะเชื่อว่าสิ่งที่ได้รับมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงสิ่งนั้นไม่มีประสิทธิภาพเลยก็ตาม ซึ่งการตอบสนองนี้เกิดจากความคาดหวังที่มนุษย์มี ส่งผลต่อกระบวนการทางสมองและร่างกาย เช่น การปล่อยสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกดีหรือการบรรเทาความเจ็บปวดนั่นเอง


ดังนั้นโดยรวมแล้ว การศึกษาจึงสรุปได้ว่าความคาดหวังของเรามีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิธีที่สมองและร่างกายตอบสนองต่อความเผ็ดด้วย ดังนั้นในแง่ของการนำไปใช้ ผู้วิจัยได้ให้ความเห็นว่าการตลาดเชิงอาหารเป็นหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อยเลยที่ผลการทดลองนี้จะถูกนำไปประยุกต์เพื่อสร้างประสบการณ์บางอย่าง