วิจัยพบการเดินทางแพลงก์ตอน พองตัว 6 ตัวเท่าเพื่อลอยขึ้นมารับแดด เสร็จแล้วก็จะแฟบลงแล้วกลับใส่ใต้ทะเลตามเดิม

ถ้าเราสืบเสาะจากที่มาของภาษา รู้หรือไม่ว่าสิ่งมีชีวิตจิ๋วใต้ทะเลลึกอย่าง ‘แพลงก์ตอน’นั้น มาจากคำว่า "Planktos" ในภาษากรีก ที่แปลว่า Wanderer หรือผู้ท่องเที่ยวไปโดยไร้จุดหมาย


ซึ่งความหมายของชื่อที่ว่านี้ ตรงกับธรรมชาติและนิยามของแพลงก์ตอน ที่หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำโดยต้านทานต่อกระแสน้ำน้อย แต่เอาเข้าจริงในมุมวิทยาศาสตร์และการศึกษาวิจัย มีบางการเคลื่อนไหวที่ยังคงเป็นปริศนาเหมือนกัน เพราะแพลงก์ตอนบางชนิดก็ไม่ได้ลอยไปตามกระแสน้ำเฉยๆ กลับกันคือพวกมันมีจุดหมายด้วยซ้ำ อย่างบางชนิดก็เดินทางจากความลึกที่หนาวเย็นและมืดมิดของมหาสมุทรขึ้นสู่ผิวน้ำ และกลับลงไปสู่ความมืดในจังหวะที่ต่อเนื่อง ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? และที่สำคัญกว่านั้นคือด้วยร่างกายที่เล็กจิ๋ว พวกมันเคลื่อนไหวด้วยระยะทางที่ใหญ่กว่าตัวเองหลายเท่าได้อย่างไร? นี่เองคือคำถามที่มีเหล่านักวิจัยพยายามหาคำตอบ จนนำมาซึ่งการค้นพบล่าสุด


งานวิจัยเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ที่นำโดยมานู ปรากาช นักชีววิทยาทางทะเลและวิศวกรชีวภาพจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และอดัม ลาร์สัน นักวิจัยหลังปริญญาเอก พวกเขาได้พบว่าแพลงก์ตอนพืชเซลล์เดียวที่เรียกว่า ‘Pyrocystis noctiluca’ มีความสามารถในการขยายตัวจนมีขนาดเพิ่มขึ้นถึงหกเท่าจากขนาดเดิม กล่าวคือขยายจนคล้ายบอลลูน เพื่อนำตัวเองขึ้นสู่ผิวน้ำที่มีระยะห่างกว่า 200 เมตรเพื่อเป้าประสงค์ในการสังเคราะห์แสง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ พวกมันก็ก็จะหดแฟ่บ และจมลงสู่ด้านล่างอีกครั้ง


“งานวิจัยในเอกสารนี้แสดงให้เห็นว่าเซลล์ P. noctiluca เหมือนกับเรือดำน้ำขนาดเล็กที่สามารถควบคุมความหนาแน่นได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถเลือกตำแหน่งที่ต้องการอยู่ในช่วงน้ำได้” ปรากาชกล่าว โดยเขายังเล่าต่อไปด้วยว่าการค้นพบครั้งนี้ ไอเดียตั้งต้นเกิดจากความบังเอิญที่พวกเขาได้เห็นว่า ง P. noctiluca มีขนาดแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในอวนที่จับได้ขึ้นมาได้


โดยการพิสูจน์ข้อสังเกต ผู้วิจัยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "Gravity Machine" ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเห็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดี่ยวในน้ำที่มีแรงโน้มถ่วงจำลองในระดับต่างกัน จนได้เจอว่าการขยายตัวนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติในระหว่างช่วงชีวิตของแพลงก์ตอน ผ่านโครงสร้างภายในที่เรียกว่า “Vacuole” หรือถังน้ำยืดหยุ่น ที่จะดูดซับน้ำจนทำให้เซลล์ใหม่มีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยให้มันสามารถลอยขึ้นไปสู่ผิวน้ำได้


วัฏจักรเซลล์นี้ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ในการขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อรับแสงและสารอาหาร โดยถือเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของการออกแบบชีวิต ที่ไม่แน่ว่าในอนาคต มนุษย์อาจนำองค์ความรู้จากกลไกตรงนี้มาสร้างสรรค์นวัตกรรมอะไรสักอย่างขึ้นมาก็ได้นะ