Flying Saucer Gas Stations ปั๊มน้ำมันจากยานแม่ เทคโนโลยีอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การออกแบบให้เต็มล้าน

Flying Saucer Gas Stations
ปั๊มน้ำมันจากยานแม่ 
เทคโนโลยีอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การออกแบบให้เต็มล้าน 
______ 


⠀⠀⠀ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ สิ่งก่อสร้างที่มองเผิน ๆ คล้ายเครื่องเล่นในสวนสนุกนี้ แท้จริงแล้วคือปั๊มน้ำมันที่เคยเปิดให้ใช้งานได้จริงแบบไม่จกตา


⠀⠀⠀เจ้าสิ่งนี้ถูกเรียกว่า ‘สถานีบริการน้ำมันทรงจานบิน (Flying Saucer Gas Stations)’ ตั้งอยู่ ณ กรุงเคียฟ สหภาพโซเวียต (ประเทศยูเครนในปัจจุบัน) และเปิดให้ใช้งานจริงในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งชื่อก็ได้อธิบายตัวมันเองไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าเป็นปั๊มน้ำมันที่ถูกออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายกับจานบิน หรือก็คือ ‘ยูเอฟโอ (UFO)’ ในความเข้าใจของใครหลายคน บทความนี้เราจึงขอเรียกมันว่า ‘ปั๊มน้ำมันยานแม่’ ซะเลยก็แล้วกัน 


⠀⠀⠀โดยเจ้าปั๊มน้ำมันยานแม่ของเรา เป็นผลงานออกแบบของสถาปนิกชาวโซเวียต ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทคโนโลยีหัวจ่ายน้ำมันแบบลอยฟ้าของประเทศญี่ปุ่น โดยเอกลักษณ์ของหัวจ่ายรูปแบบนี้ คือมันจะถูกแขวนไว้บนเพดาน ไม่ได้ติดตั้งอยู่ที่พื้นแบบทั่วไปที่เราคุ้นชินกัน เมื่อลูกค้าต้องการเติมน้ำมัน หัวจ่ายก็จะถูกหย่อนลงมา หลังจากเติมเสร็จ ก็จะถูกหมุนเก็บกลับขึ้นไปยังที่แขวนตามเดิม โดยข้อดีของมันคือการช่วยประหยัดพื้นที่ปั๊มน้ำมัน อีกทั้งยังสะดวกต่อการจอดรถ 

และเมื่อนำนวัตกรรมนี้มาผนวกเข้ากับไอเดียการออกแบบสุดบรรเจิด เราจึงได้ออกมาเป็นปั๊มน้ำมันรูปทรงแหวกแนว ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ใจกลางกรุงเคียฟ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเติมพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างดาวอย่างไรอย่างนั้น 


⠀⠀⠀ถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามในใจเล็ก ๆ ว่า ในหมู่มวลรูปทรงมากมายให้หยิบจับมาเป็นไอเดีย ทำไมสถาปนิกเจ้าของผลงานถึงเลือกออกแบบเป็นรูปทรงจานบินกันล่ะ?

ก็ต้องบอกว่าในช่วงที่เจ้าปั๊มน้ำมันยานแม่ถือกำเนิด อยู่ในยุครุ่งเรืองของการแข่งขันทางอวกาศระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกันว่า ‘ยุค Space Race’ พอดิบพอดี ทำให้ความนิยมในวิทยาศาสตร์และอวกาศในหมู่ประชาชนของสหภาพโซเวียตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อีกทั้งความสำเร็จด้านการสำรวจอวกาศของโซเวียตเองก็เป็นที่เลื่องลือเสมอมา จึงเป็นไปได้ว่า ปั๊มน้ำมันรูปทรงจานบินนี้ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนถึงความคลั่งไคล้และความภาคภูมิใจในความสำเร็จด้านการสำรวจอวกาศของชาวโซเวียตในยุคนั้นเช่นกัน 

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่เจ้าปั๊มยานแม่นี้ สร้างความนิยมได้ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะนอกจากการออกแบบสุดหวือหวาแล้ว นวัตกรรมนี้ยังเต็มไปด้วยข้อเสียมากมายด้านการใช้งาน ทั้งความเสี่ยงจากการรั่วไหลของน้ำมันจากหัวจ่ายที่ติดตั้งอยู่ด้านบน และระบบที่ซับซ้อนทำให้การบำรุงรักษามีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปั๊มทั่วไป ทำให้ปั๊มยานแม่ต้องถูกปิดตัวลงในที่สุด ถึงอย่างนั้นก็กินระยะเวลาเปิดทำการได้ถึงเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว 


⠀⠀⠀นี่จึงกลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดีของความกล้าหาญทางการออกแบบสถาปัตยกรรมของคนในยุคก่อน ที่นอกจากจะให้ประสบการณ์การเติมน้ำมันแบบใหม่แล้ว ยังสามารถเติมเต็มจินตนาการของคนรักเรื่องราวอวกาศและมนุษย์ต่างดาวได้อย่างเต็มเปี่ยม


แล้วคุณล่ะ ? อยากลองออกแบบปั๊มน้ำมันเป็นรูปทรงอะไร



________

ติดตามบทความอื่นๆ ของ STeP ได้ที่ : ARTICEL

#CMUSTeP #STeP #ณWHATตะกรรม #FlyingSaucer #GasStations #จานบิน #ยานอวกาศ