Electric Elevator Desks โต๊ะเอกสารติดลิฟต์ เซฟชีวิตเสมียนยุค 30s ไม่ให้จมกองเอกสาร

Electric Elevator Desks
โต๊ะเอกสารติดลิฟต์ 

เซฟชีวิตเสมียนยุค 30s ไม่ให้จมกองเอกสาร 

_______


ลองนึกภาพว่าถ้าคุณเป็นพนักงานคนหนึ่งที่ต้องจัดการกับเอกสารเป็นพันฉบับต่อวัน โดยไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอุปกรณ์ไฮเทค มีเพียงสมองและสองมือเท่านั้น งานของคุณจะเหมือนฝันร้ายแค่ไหน ??? 


⠀⠀⠀นับว่าเป็นโชคดีของเรา ๆ ที่เติบโตมาในยุคที่การจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบดิจิทัลหรือระบบจัดเก็บบนคลาวด์กันเสียส่วนใหญ่แล้ว ทำให้สามารถจัดการกับเอกสารได้ง่ายดาย ทั้งในขั้นตอนการสร้างเอกสาร การเข้าไปอ่าน การสืบค้นและดึงข้อมูลออกมาใช้ เพียงเปิดคอมพิวเตอร์ คลิกเมาส์ไม่กี่ที ก็สามารถใช้งานเอกสารเหล่านั้นได้ตามที่ประสงค์ ไม่ต้องมาปวดหัวกับการไล่อ่านหรือค้นหาทีละแผ่น 


⠀⠀⠀แต่น่าเสียดายที่ความโชคดีนี้ ยังไม่เกิดขึ้นในช่วงปี 1930 ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดเก็บเอกสาร ประจำสำนักงานสถาบันสังคมกลางแห่งกรุงปราก ต้องปวดหัวอย่างแสนสาหัสกับการจัดการกับเอกสารทะเบียนราษฎรเป็นพัน ๆ กล่องต่อวัน อ่านถูกแล้วล่ะ ไม่ใช่เพียงแค่พันฉบับเท่านั้น แต่หมายถึงพันกล่องเลยทีเดียว! 

ต้องขอเกริ่นก่อนว่า ในช่วงทศวรรษ 1930 นั้น เป็นช่วงที่โลกประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ‘ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่’ (Great Depression) ความยากจนและความไม่มั่นคงกระจายตัวไปในหลายประเทศ รวมถึงประเทศเชโกสโลวาเกียในสมัยนั้น ทำให้สำนักงานสถาบันสังคมกลางกรุงปราก ผู้มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือและบริหารจัดการสวัสดิการทางสังคมต้องรับมือกับการดูแลผู้สูงอายุ เด็กกำพร้า คนพิการ และคนไร้บ้านจำนวนมาก เอกสารทะเบียนราษฎรต่าง ๆ ของคนเหล่านี้ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย 

ถึงอย่างนั้น เหล่าเสมียนผู้ประสบภัยของเรา ก็ไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคแต่อย่างใด ได้พยายามเบื้องต้นในการจัดหมวดหมู่เอกสารเหล่านั้นอย่างเป็นระบบเพื่อให้ง่ายก็ต่อการค้นหา แต่ก็ยังต้องอาศัยคนจำนวนมากอยู่ดีในการย้ายกล่องเอกสารเหล่านี้ไปมา เพราะไม่สามารถวางรวมกันไว้ในห้องเดียวได้ กระทั่งทางสำนักงานฯ ได้เกิดไอเดียในการแก้ปัญหานี้ โดยการสร้างตู้เอกสารเรียงกันขึ้นไปเป็นแนวตั้งฝังไว้กับกำแพงเสียเลย แล้วใช้ลิฟต์ในการขนส่งเสมียนไปมาเพื่อหยิบจับเอกสารแทนการยกขนด้วยมือ 

⠀⠀⠀และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของ ‘โต๊ะเอกสารติดลิฟต์ไฟฟ้า ณ สำนักงานสถาบันสังคมกลางแห่งกรุงปราก’ (Electric elevator desks at the Central Social Institution of Prague) นวัตกรรมที่ต่อมากลายเป็นแฟ้มเก็บเอกสารแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในภาพจำของกรุงปรากที่มีอิทธิพลต่อศิลปินในยุคหลังหลายคนเลยทีเดียว 


⠀⠀⠀จากแหล่งข้อมูลไม่ได้มีการระบุเจาะจงว่าไอเดียสุดล้ำนี้ มีที่มาจากไหนหรือใครเป็นผู้สร้าง แต่นั่นก็อาจไม่สำคัญนัก เมื่อสิ่งที่ดึงดูดเรามากกว่าคือความตระการตาของมันที่เหมือนหลุดออกมาจากหนังดิสโธเปียอย่างไรอย่างนั้น โดยตู้เอกสารที่อยู่หน้าโต๊ะทำงานนั้น ถูกจัดเรียงจากพื้นจรดถึงเพดานสองฝั่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 370 ตารางเมตร มีตู้เอกสารมากกว่า 3,000 ตู้ จัดเรียงเอกสารตามระบบที่สำนักงานฯ วางไว้ 

ส่วนพระเอกของเราอยู่ตรงนี้ นั่นคือโต๊ะเอกสารติดลิฟต์ที่เรียงอยู่หน้าตู้เอกสาร ลักษณะคล้ายกล่องชิงช้าสวรรค์ ถูกยึดไว้ด้วยคานยกที่สามารถเคลื่อนที่ได้ถึง 4 ทิศทาง ทั้งขึ้น-ลง, ซ้าย-ขวา ภายในกล่องเป็นโต๊ะ มีเก้าอี้ในตัว มีถาดสำหรับวางเอกสาร และไฟโต๊ะทำงาน เมื่อเสมียนต้องการใช้งาน ก็เพียงแค่เข้าไปนั่งบนโต๊ะ กดปุ่มเพื่อควบคุมลิฟต์ให้เคลื่อนที่ไปยังตู้เอกสารที่ต้องการ จากนั้นก็ทำการเปิดตู้เอกสารด้วยระบบปุ่มอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน 

และเชื่อหรือไม่ ว่าเจ้าโต๊ะทำงานติดลิฟต์และระบบตู้เอกสารแนวตั้งนี้ ตอบโจทย์การทำงานได้จริงอย่างน่าทึ่ง เพราะจากแต่เดิม งานจัดระเบียบและการสืบค้นเอกสารที่ต้องใช้กำลังคนถึง 400 คน ในเวลานี้ สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยเสมียนเพียง 20 คนเท่านั้น! 


⠀⠀⠀แม้จะถือว่านวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ลมแห่งยุคสมัยใหม่ก็ย่อมพัดพาเอาของเก่าเลือนไป เมื่อเอกสารเริ่มถูกแปลงเป็นระบบดิจิทัล เจ้าตู้เอกสารแนวตั้งและโต๊ะเอกสารติดลิฟต์ก็กลายเป็นเพียงที่เอาไว้จัดเก็บเอกสารเก่าเท่านั้น ไม่ได้ถูกใช้งานเป็นหลักอีกต่อไป ถึงอย่างนั้น ภาพที่แสนน่าทึ่งของมันก็ยังตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของผู้คนที่เคยได้พบเห็น

โต๊ะเอกสารติดลิฟต์ยังคงตั้งตะหง่านตระการตาอยู่ที่เดิม ณ สถาบันสังคมกลางเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสำนักงานประกันสังคมแห่งสาธารณรัฐเช็ก จึงเป็นที่น่าเสียดายที่บุคคลทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ อาจไม่มีโอกาสได้เข้าไปยลโฉมด้วยตาของตัวเอง 


ดูเผิน ๆ เหมือนฉากขององค์กรวายร้ายในหนังยุคต้น 20s เลย ว่าไหม? 


________

ติดตามบทความอื่นๆ ของ STeP ได้ที่ : ARTICEL

#CMUSTeP #STeP #ณWHATตะกรรม #โต๊ะทำงานไฟฟ้า #ElectricElevatorDesks #Innovation