ผลออกสดๆ ร้อนๆ โนเบลฟิสิกส์ปีนี้มอบให้งานวิจัย AI สร้างเครือข่ายประสาทเทียมที่อาจเปลี่ยนโลก

ไม่กี่ชั่วโมงก่อน ผลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2024 ได้ประกาศออกมาแล้ว ว่ามอบให้กับนักวิทยาศาสตร์สองคนคือ John Hopfield และ Geoffrey Hinton ผู้ตีพิมพ์งานวิจัยที่มีชื่อว่า “for foundational discoveries and inventions that enable machine learning with artificial neural networks.”


อธิบายให้เข้าใจง่าย งานวิจัยนี้ Hopfield และ Hinton ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดในทางฟิสิกส์และชีววิทยา โดยได้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถจำและเรียนรู้รูปแบบข้อมูลได้ราวกับเครือข่ายประสาทของสิ่งมีชีวิต ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า “เครือข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks หรือ ANN)”


เครือข่ายประสาทเทียมนี้ มีหน่วยประมวลผลดิจิทัล (digital neurons) ที่เชื่อมต่อกันในรูปแบบต่างๆ ซึ่งความมหัศจรรย์ที่ Hopfield และ Hinton ทำได้คือรูปแบบและความแข็งแรงของการเชื่อมต่อระหว่างกันของเครือข่ายประสาท ที่หน่วยประมวลผลในเครือข่ายประสาทเทียมจะถูก “กระตุ้น” โดยสัญญาณข้อมูลนำเข้า ที่ส่งต่อจากหน่วยหนึ่งไปยังอีกหน่วยหนึ่งในลักษณะที่สามารถประมวลผลข้อมูลนำเข้าได้ ดังนั้นเครือข่ายจึงสามารถทำงานที่เหนือจินตนาการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างมหัศจรรย์ เช่น การจำแนกประเภท การคาดการณ์ และการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์


โดยในปัจจุบันหลังจากผลรางวัลประกาศออกมา ถือเป็นเรื่องที่ฮือฮาในทันทีเพราะงานวิจัยที่คว้ารางวัลมี AI เข้าไปเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดเมื่อเปรียบเทียบกับความสำเร็จใน AI ในปัจจุบัน เพราะผลงานของ Hopfield ประกอบด้วยหน่วยประมวลผลเพียง 30 ตัว ในขณะที่ระบบในปัจจุบันเช่น ChatGPT อาจมีหน่วยประมวลผลหลายล้านตัว อย่างไรก็ตาม รางวัลโนเบลในครั้งนี้ก็เน้นย้ำว่าเป็นเพียงงานในช่วงต้นของเครือข่ายประสาทเทียม หลังจากนี้ยังต้องมีการัฒนาตามมาอีกมาก


แต่หลังจากได้รับรางวัลโนเบล Hinton ได้กล่าวความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ไว้ด้วย ซึ่งเป็นการทิ้งท้ายถึงข้อสังเกตต่อรางวัลนี้เป็นอย่างดี


“ผมคิดว่าปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับสิ่งที่เหมือนกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อครั้งอดีต แต่แทนที่จะส่งผลต่อความสามารถทางกายภาพ สิ่งที่ AI ทำได้กำลังมีผลต่อความสามารถทางปัญญาของเรามากกว่า หนำซ้ำมันยังไปไกลกว่าปัญญาของเราแล้วด้วย”