Wooden Swimming Suit ชุดว่ายน้ำไม้ ว่ายน้ำได้จริงเหรอ? อ๋อ ไม่ได้ทำเพื่อให้ว่ายน่ะ

เมื่อแรกเห็นรูปนวัตกรรมชุดว่ายน้ำที่ทำมาจากไม้ในโพสต์นี้ เราเชื่อว่าในแรกเริ่ม ทุกคนอาจจะเลิกคิ้วสงสัยเป็นแน่ ว่าเมื่อครั้งอดีต มนุษย์เคยนำไม้มาทำเป็นชุดว่ายน้ำจริงๆ หรือ? จะว่ายน้ำสะดวกไหมนั่น? หรืออาจเผลอสรุปความไปเองว่านวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ดูจะไม่เข้าท่านี้คงล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะการใช้ไม้เป็นเสื้อผ้ามันจะได้รับความนิยมได้อย่างไรกัน?


แต่รู้ไหมว่าเรื่องราวภายใต้แผ่นไม้เหล่านั้น เข้าขั้นประสบความสำเร็จ เนื่องจากการเกิดขึ้นชุดว่ายน้ำไม้ มีอะไรที่มากกว่าการเป็นเพียงแค่ชุดว่ายน้ำหนึ่งชุดยังไงล่ะ


แต่การจะเริ่มเล่าถึงชุดว่ายน้ำไม้นี้ เราคงต้องย้อนกลับไปหนึ่งร้อยปีก่อน ในสถานที่ที่ชื่อว่าเขตเกรย์ส ฮาร์เบอร์ รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในเวลานั้น “อุตสาหกรรมไม้” คือพื้นฐานสำคัญของอัตลักษณ์เมือง กล่าวคือเป็นธุรกิจที่เลี้ยงผู้คนทุกคน แถมยังส่งผลต่อวัฒนธรรมในพื้นที่ที่การใช้ชีวิตของผู้คนสอดคล้องไปกับการทำอาชีพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้นี้ รวมถึงความภูมิใจในพื้นถิ่นตน ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้เช่นกัน


จากรากเหง้าที่หยั่งลึกนั่นเอง ที่ทำให้ในช่วงฤดูร้อนปี 1929 เขตเกรย์ส ฮาร์เบอร์ได้ริเริ่มไอเดียโครงการในการโฆษณาเมืองขึ้น เพราะพวกเขาอยากให้ผู้คนทั้งภูมิภาคหันมามองสิ่งที่ผู้คนในเมืองสามารถทำได้ กล่าวคือพวกเขาอยากทำให้ทุกคนในภูมิภาครู้ว่านี่คือเมืองที่โดดเด่นเรื่องอุตสาหกรรมไม้อย่างแท้จริง ขอให้เป็นอะไรที่เกี่ยวกับไม้ พวกเราทำได้หมด แต่ไหนๆ จะโฆษณาทั้งที พวกเขาก็อยากทำให้แตกต่าง ความตั้งใจทั้งหมดนั้นเองที่ทำให้แคมเปญที่ชื่อว่า “Spruce Girls” เกิดขึ้น


Spruce Girls คืออะไร? นี่คือแคมเปญที่นำเสนอภาพผู้หญิงใส่ชุดว่ายน้ำไม้ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์จากไม้ในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อให้ทุกคนที่เห็นได้ตระหนักว่าเขตเกรย์ส ฮาร์เบอร์มีอุตสาหกรรมไม้ท้องถิ่นที่ยอดเยี่ยมขนาดที่ว่าสามารถนำแผ่นไม้เนื้ออ่อนมาทำเป็นวัสดุสำหรับชุดว่ายน้ำได้!


ดังนั้นแม้ว่าจะดูเหมือนจะไม่สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะใครกันจะอยากว่ายน้ำในชุดไม้? แต่นั่นไม่สำคัญเลย เพราะจุดประสงค์ของผู้ริเริ่มไม่ใช่เรื่องการใช้แต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้ผู้คนสนใจและกระตุ้นจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในการนำไม้ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ


โดยในการนำเสนอ ชุดว่ายน้ำทำจากไม้จาก Spruce Girls ยังถูกอธิบายไว้ว่าเป็นชุดที่เรียบง่าย ราคาถูก และทำได้ง่าย แต่กลับดูทันสมัยและมีความเป็นแฟชั่น ดังนั้นในอีกทางหนึ่ง นวัตกรรมนี้ยังย้ำถึงแนวคิด DIY และการรีไซเคิลไม้ เป็นการต่อยอดไอเดียของผู้คนที่พบเห็นได้มากขึ้นไปอีก


ซึ่งด้วยวัฒนธรรมและสังคมในยุคนั้น แน่นอน, หลังจากภาพ Spruce Girls ปล่อยไป เขตเกรย์ส ฮาร์เบอร์ได้รับการพูดถึงไปทั่วภูมิภาคในทันที


โดยมีการวิเคราะห์ในภาพหลังด้วย ว่า Spruce Gilrs ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมไม้ในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของยุคสมัยที่นวัตกรรมและประเพณีเริ่มผสมผสานกัน จนส่งผลให้เขตเกรย์ส ฮาร์เบอร์ไต่ระดับขึนไปแตะ “ช่วงที่ดีที่สุดของการผลิตไม้ในสหรัฐอเมริกา” ได้ในที่สุด


ดังนั้นถึงเป็นนวัตกรรมที่ชวนเกาหัวเมื่อแรกเห็น แต่พอทราบเบื้องหลังตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่านวัตกรรมที่ชวนน่าสงสัยทำหน้าที่ของมันได้ตามเป้าหมายอย่างสำเร็จงดงาม โดยถ้ามองด้ายสายตาในปัจจุบัน ชุดว่ายน้ำไม้ยังให้บทเรียนสำคัญกับเราด้วยนะ ว่าอย่าตัดสินนวัตกรรมใดในแรกเห็น แต่ขอให้สืบค้นเรื่องราวของมันก่อน เพราะภายใต้เครื่องหมายคำถาม อาจมีความคิดสร้างสรรค์และไอเดียดีๆ ให้เราอาจได้เรียนรู้ก็เป็นได้


ส่วน EP หน้า ‘ณ WHAT!? ตะกรรม’ จะพาทุกคนย้อนความไปเจอนวัตกรรมในอดีตอะไรอีกบ้าง เกาะขอบจอติดตามได้ที่นี่เลยนะ