มายากลคือศาสตร์แห่งการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดูเหมือนเป็นไปได้ และยังสร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้ชมด้วยการแสดงต่างๆ ที่ ‘เห็น’ ได้ชัด เช่น การดึงกระต่ายออกจากหมวกหรือการเลื่อยคนเป็นสองท่อน
แต่ถ้าลองมาทบทวนดู จะพบว่าการแสดงที่พึ่งพา ‘เสียง’ ของนักมายากลนั้นกลับมีน้อยมาก โดยประเด็นนั้นเองที่ทำให้เกิดบทความทางวิชาการใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่ในวารสาร Trends in Cognitive Sciences ที่ทีมนักวิจัยได้สำรวจเหตุผลที่การสร้างประสบการณ์ทางมายากลโดยใช้เพียงเสียงเป็นเรื่องท้าทาย และยังพยายามเน้นความสำคัญของการทำให้มายากลเข้าถึงได้สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาด้วย
“เมื่อพิจารณาว่ามายากลเกี่ยวข้องกับศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างกระบวนการรับรู้กับความเชื่อ เราจึงคิดว่าทุกคนควรสามารถสัมผัสกับมายากลในประสาทสัมผัสอื่น ๆ ได้ด้วย แต่กลายเป็นว่าในความเป็นจริง นอกจากการใช้ตาแล้วกลายเป็นเรื่องยากจริงๆ ที่มายากลจะใช้ประสาทสัมผัสอื่น” กุสตาฟ คูน ผู้วิจัยหลักและอาจารย์ประจำภาควิจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยพลีมัทกล่าว “ดังนั้นถ้ายึดตามสิ่งที่เป็นอยู่ หากคุณเกิดมาพร้อมกับความพิการทางสายตา คุณอาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับกลลวงทางเวทมนตร์เลยหรือ นี่ทำให้ทีมเราตั้งคำถามว่าทำไมกันล่ะ? ทำไมเราถึงไม่สามารถสร้างกลลวงที่สนุกสนานสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาได้?”
โดยจากค้นคว้า ทีมวิจัยเจอเหตุผลขั้นต้นและชี้ให้เห็นว่าความเป็นไปนี้ อาจเป็นผลมาจากความแตกต่างพื้นฐานระหว่างการประมวลผลข้อมูลภาพและเสียงในสมองของมนุษย์ โดยมนุษย์มักจะเชื่อสิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน ทำให้คนรู้สึกประหลาดใจมากขึ้นเมื่อการมองเห็นหลอกเรา อีกทั้งการรับรู้ทางสายตายังเป็นการสะท้อนสถานะของโลก ขณะที่การรับรู้ทางการได้ยินมักถูกเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติชั่วคราว ดังนั้นนี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมกลลวงทางการได้ยินจึงมีความยากลำบากในการสร้างสรรค์
และอีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ทีมวิจัยค้นพบจนทำให้เกิดการต่อยอด คือตัวนักมายากลเองนั่นแหละ ที่อาจไม่เคยคิดที่จะสร้างกลลวงในรูปแบบเสียงออกมาเลย เนื่องจากสนใจกลลวงทางสายตามากกว่า แต่เหตุนั้นเองที่ทำให้ทีมผู้วิจัยได้เปิดการแข่งขันขึ้น เพื่อท้าทายนักมายากลให้สร้าง “กลลวงโดยใช้เสียงเพียงอย่างเดียว” ซึ่งการประกวดที่ว่าได้เกิดขึ้นแล้ว โดยผลการแข่งขันจะประกาศในเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึง
“สำหรับพวกเรา มายากลไม่ควรพึ่งพาการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ดังนั้นนี่จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจและชักชวนให้มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งพวกเราคาดหวังว่าความตั้งใจของเรานี้ รวมถึงจากการศึกษาในอนาคตจะช่วยทำให้มายากลสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น” คูนทิ้งท้าย