งานวิจัยใหม่ค้นพบ พืชที่กำลังถูกกินจะเตือนภัยเพื่อน โดยใช้สารระเหยที่ปล่อยออกมาก่อนตุย

รู้หรือไม่ ว่าการเตือนภัยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับสัตว์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับพืชด้วยเช่นกัน


เพราะการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Science ได้แสดงให้เห็นว่า อากาศที่เป็นอนุภาคอินทรีย์ที่เกิดจากพืช (Secondary Organic Aerosols หรือ SOAs) สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชได้ โดยงานวิจัยครั้งนี้จัดทำขึ้นผ่านความร่วมมือระหว่างนักนิเวศวิทยาเคมี นักนิเวศวิทยาสรีรวิทยาพืช และนักฟิสิกส์บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยฟินแลนด์ตะวันออก


โดยก่อนจะไปเข้าใจเรื่องดังกล่าว ต้องเข้าใจก่อนว่าตามความเข้าใจเดิม มนุษย์ได้ค้นพบแล้วว่าพืชสามารถปล่อยสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ (Volatile Organic Compounds - VOCs) สู่บรรยากาศเมื่อถูกทำลายโดยสัตว์กินพืช แต่การเจอว่าสาร VOC เหล่านี้ สามารถทำหน้าที่เป็น SOA และมีบทบาทสำคัญในการจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืช นี่เองคือสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ ทำให้ในกรณีที่มีพืชกำลังได้รับความเสียหาย ตัวมันเองจะปล่อย VOC ออกมาให้พืชที่ยังไม่ได้รับความเสียหายใกล้เคียงรับรู้ด้วย หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นสัญญาณเตือนเพื่อให้เตรียมป้องกันตัวน่นเอง


โดยในการศึกษาครั้งนี้ ทีมวิจัยใช้ต้นกล้าของสนสก็อต (Scots pine) และด้วงหนามใหญ่ในการจำลองสถานการณ์ พวกเขาได้พบว่าต้นสนสก็อตสามารถปล่อย VOC ที่ทำให้เกิดการป้องกันกับต้นใกล้เคียงที่เป็นชนิดเดียวกันได้


และด้วยกลไกนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์ได้เริ่มเข้าใจว่าพืชอาจมีระบบการรับรู้ที่ซับซ้อนมากกว่าที่คิด ซึ่งทำให้สามารถปรับการป้องกันและระวังภัยตามข้อมูลที่ได้รับจากสัญญาณเคมีที่แตกต่างกันได้ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับการเปิดพื้นที่การวิจัยที่ซับซ้อนสำหรับนักนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับสัญญาณเคมีที่กำหนดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชอื่นๆ ได้เช่นกัน