งานวิจัยตั้งข้อสังเกต ปลาพยาบาลอาจส่องกระจกดูหุ่นตนเอง เพื่อประเมินว่าใหญ่หรือเล็กกว่าปลาอีกตัวก่อนต่อสู้

รู้หรือไม่ว่าตามความเข้าใจดั้งเดิม มีสัตว์ไม่กี่ชนิดในโลกที่มีศักยภาพในการ ‘ตระหนักรู้ถึงตัวเอง’ ในระดับสูง กล่าวคือสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำด้วยความซับซ้อนว่าตนเองเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือสามารถผ่านสถานการณ์ตรงหน้าได้หรือไม่ โดยจะเป็นสัตว์ที่มีพัฒนาการทางสมองค่อนข้างสูง เช่น มนุษย์ เป็นต้น


แต่งานวิจัยล่าสุด ที่นำโดยมหาวิทยาลัยโอซาก้า เมโทรโพลิแทน ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific Reports ได้ออกมาเผยแพร่ข้อสังเกตใหม่ ว่าปลาบลูสตรีค คลีนเนอร์ วราส (Labroides dimidiatus) หรือที่เราอาจจะเคยคุ้นชื่อกันว่า ‘ปลาพลาบาล’ สามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะบางประการที่เกี่ยวข้องกับความตระหนักรู้ในตนเองเช่นกัน ซึ่งลักษณนะนี้ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อนในสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์


เพราะมันคือทักษะที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการตรวจสอบขนาดร่างกายของตนเองในกระจก! เพื่อตัดสินใจว่าจะโจมตีปลาตัวอื่นที่มีขนาดเล็กกว่าหรือใหญ่กว่าตนเอง


โดยกลุ่มนักวิจัยได้บรรยายว่าในการศึกษาในครั้งนี้ พวกเขาได้สังเกตเห็นพฤติกรรมของปลาพยาบาลที่มีนัยสำคัญ ว่าพวกมันจะเข้าไปตรวจสอบตนเองในกระจกภายในตู้ปลาก่อนเสมอที่จะเกิดปฏิสัมพันธ์กับปลาตัวอื่น เช่นการต่อสู่ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าปลาอาจกำลังใช้กระจกเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบขนาดร่างกายของพวกมันเพื่อเปรียบเทียบกับขนาดของปลาอื่น คาดการณ์ผลลัพธ์ของการต่อสู้ และตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป


โดยผลการวิจัยที่พบว่าสัตว์น้ำสามารถใช้กระจกเป็นเครื่องมือได้นี้ อาจช่วยชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างความตระหนักรู้ในตนเองของมนุษย์และสัตว์อื่นๆ และให้ข้อมูลที่สำคัญในการทำความเข้าใจถึงพัฒนาการของความตระหนักรู้ในตนเองในสัตว์ต่าง ๆ