ณ WHAT!? ตะกรรม EP.11 : Mechanical Matchmaker Tinder ยุคปี 1920s บอกได้ด้วยวิทยาศาสตร์ว่าเราคู่กันหรือไม่

อย่างที่เรารู้กัน ว่าในปัจจุบันแอปพลิเคชันหาคู่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมอีกแล้ว เพราะด้วยมุมมองที่เปิดกว้างขึ้น ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้เจอความรักความเข้าใจดีๆ โดยอาศัยช่องทางออนไลน์และเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย


แต่รู้ไหมว่าถ้าหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปหนึ่งร้อยปีที่แล้ว ประมาณช่วงปี 1920s ความพยายามในการใช้เทคโนโลยี (ในเวลานั้น) ในการทำให้ผู้คนเจอความรักที่ดีก็ได้เกิดขึ้นเช่นกัน แต่เป็นนวัตกรรมที่เมื่อหันกลับไปมองด้วยสายตาตอนนี้ มันมีทั้งจุดที่ทำให้เราต้องเลิกคิ้วสงสัย และจุดที่น่าสนใจชวนตื่นเต้น เพราะสอดคล้องกับแอปพลิเคชันหาคู่ในปัจจุบันอย่างบังเอิญ


โดยสิ่งที่ว่านี้ มีชื่อว่า ‘Mechanical Matchmaking’ หรือ ‘เครื่องกลจับคู่’ นวัตกรรมที่เกิดจากไอเดียของ Hugo Gernsback นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ที่นำเสนอครั้งแรกในนิตยสาร Science and Invention ฉบับเดือนเมษายนเมื่อปี 1924 โดยคำโปรยที่ชวนสะดุดตาในยุคสมั้ยนั้นมากๆ นั่นคือ “ทางเลือกทางวิทยาศาสตร์เพื่อตัดสินว่าการแต่งงานสำเร็จหรือล้มเหลว”


โดยสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านี้ เป็นเครื่องกลที่ประกอบไปด้วย ‘การทดสอบ’ 4 ประเภทย่อยที่แตกต่างกัน แต่ทุกการทดสอบมีเป้าหมายเพื่อทำให้คู่รัก (หรือคู่ที่อยากจะรัก) ร่วมกันตัดสินด้วยปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ ว่าเราเหมาะสมจะแต่งงานกันหรือเปล่า โดยการทดสอบต่างๆ มีดังนี้


1️.สำหรับการทดสอบแรก เกอร์สแบ็คอธิบายว่าคือ ‘การทดสอบแรงดึงดูดทางภายภาพ’ เพราะตามความเห็นของเขา ความดึงดูดใจต่อกันระหว่างมนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการแต่งงานที่ประสบความสำเร็จ โดยเกอร์สแบ็คอธิบายว่าเพื่อที่จะวัดระดับแรงดึงดูดทางกายภาพเหล่านั้นของคู่รัก เขาคิดค้นการวัดได้โดยการติดตั้งตัวนำไฟฟ้าไว้ที่ข้อมือของแต่ละคน เพื่อให้สามารถบันทึกชีพจรของทั้งคู่ จากนั้นจะใช้ “โซ่พันรอบหน้าอก” เพื่อวัดการหายใจ โดยปลายด้านหนึ่งของโซ่จะเชื่อมต่อกับเครื่องวัด ทั้งสองการวัดนี้จะถูกบันทึกลงบนเทปกระดาษที่เคลื่อนไหวซึ่งแสดงอัตราการหายใจ โดยยิ่งมีค่ามาก เกอร์สแบ็คเชื่อว่าบุคคลจะดึงดูดกันมาก


2.การทดสอบที่สอง คือการทดสอบความเห็นอกเห็นใจ ผ่านวิธีการที่ให้ฝ่ายหนึ่งเฝ้าดูอีกฝ่ายกำลังผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเล็กน้อย เช่น เลือดออก (!?) หลังจากนั้นเกอร์สแบ็คจะสังเกตการหดตัวของกล้ามเนื้อและการหายใจ โดยถ้ารุนแรงพอ เกอร์สแบ็คแปลความหมายว่าคู่รักคนนั้นจะแสดงความเห็นอกเห็นใจให้กับคู่ของตนเองเพียงพอ


3️.การทดสอบที่สาม คือการทดสอบชวนงง เพราะเกอร์สแบ็คเสนอว่าเราควรทดสอบ ‘กลิ่นตัว’ ของคู่รักด้วย โดยเขาอ้างว่าการแต่งงานหลายครั้งในยุคก่อนๆ หน้า มักพังทลายจากกลิ่นตัวมากกว่าสาเหตุอื่นๆ ดังนั้นในการทดสอบกลิ่นตัว คู่รักจะถูกบังคับให้ดมกลิ่นกันและกัน โดยบุคคลหนึ่งจะถูกวางไว้ในแคปซูลขนาดใหญ่โดยมีสายยางยื่นออกมาด้านบน สายยางจะถูกนำไปที่จมูกของอีกฝ่าย และหากไม่พบกลิ่นที่น่ารังเกียจเกินไป การจับคู่ครั้งนี้ถือว่าผ่าน


4️.การทดสอบสุดท้าย คือการทดสอบความผิดปกติของระบบประสาท เนื่องจากถ้ายึดตามคำบอกเล่าของเกอร์สแบ็ค เขาย้ำว่าสิ่งสำคัญของคู่รักคือการที่อย่างน้อยหนึ่งคนจะต้องสงบสติอารมณ์ภายใต้แรงกดดันได้ ซึ่งฟังแนวคิดแล้วดูน่าสนใจ แต่ด้วยความรู้ด้านการทดสอบในสมัยนั้นที่ยังไม่ได้พัฒนามากนัก วิธีการที่เกอร์สแบ็คเลือกใช้จึงอาจน่าขบขันสักหน่อย เพราะเขาจะให้คู่รักจินตนาการถึงชายคนหนึ่ง และหลังจากนั้นจะเปิดเสียงยิงปืนดังๆ “ปัง!!“ แล้วบันทึกปฏิกิริยาของคู่รักไว้ หากตกใจเกินไปทั้งคู่ เกอร์สแบ็คจะลงความเห็นว่า “การแต่งงานไม่ควรเกิดขึ้น คุณไม่ใช่คู่แท้ของกันและกัน”


อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอเดาได้ ว่าสุดท้ายนวัตกรรมดังกล่าวไม่ได้รับการต่อยอดและพัฒนา เพราะผู้คนในเวลานั้น “ไม่ซื้อไอเดีย” ยิ่งถ้ามาอ่านด้วยสายตาตอนนี้ วิธีการของเกอร์สแบ็คยิ่งน่าฉงนเข้าไปใหญ่


แต่ถ้าถอดเอาวิธีการออก และมองกันที่แนวคิด เอาเข้าจริงสิ่งที่เกอร์สแบ็คตั้งใจนั้นไม่ได้ต่างกับในปัจจุบันเท่าไหร่เลย เพราะถ้าเราแปลทั้ง 4 การทดสอบออกมาให้เห็นแกนกลาง เราจะพบว่ามันคือการประเมินความรู้สึกที่มีต่อกัน, ความเห็นใจซึ่งกันและกัน, รูปแบบการใช้ชีวิต และความผิดปกติที่ควรรู้ไว้ก่อน ทั้งหมดคือสิ่งที่ในปัจจุบันในแอปพลิเคชั่นหาคู่มีทั้งนั้น ดังนั้นจะบอกว่านวัตกรรมนี้คือสิ่งที่มาก่อนกาลก็ว่าได้


และเห็นไหม ถึงแม้นวัตกรรมจะไม่ได้ไปต่อ แต่สิ่งที่หล่นหายไประหว่างทางเหล่านี้ ก็มีการซ้อนทับกับนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นในโลกนี้อาจไม่มีไอเดียที่สูญเปล่าหรอก มีแต่ไอเดียที่รอให้เราเข้าไปต่อยอดเท่านั้นเอง


ส่วน EP หน้า ‘ณ WHAT!? ตะกรรม’ จะพาทุกคนย้อนความไปเจอนวัตกรรมในอดีตอะไรอีกบ้าง เกาะขอบจอติดตามได้ที่นี่เลยนะ