งานศึกษาใหม่ค้นพบ ต้นไม้เองก็หมุนตัวเพื่อหาแสงแดด ไม่ใช่แสงที่ดึงความสนใจจากต้นไม้เพียงฝ่ายเดียว

ในความเข้าใจทั่วไป พืชดูเหมือนเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง แต่เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นวิดีโอแบบเร่งความเร็วของต้นไม้กันบ้างแล้ว ว่าแท้จริงต้นไม้สามารถขยับได้ เพียงแต่ขยับด้วยความเร็วที่ช้ามากๆ จนแทบไม่ทันสังเกต อีกทั้งด้วยบทเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถม ยังทำให้เราเข้าใจด้วยว่าการเคลื่อนที่ของต้นไม้ที่กล่าวไป มักจะสัมพันธ์กับแสงแดดเสียเป็นส่วนใหญ่


แต่ท่ามกลางความเข้าใจดั้งเดิมเหล่านี้ คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟอยากค้นคว้าลงไปให้มากกว่านั้น ว่ามีอะไรในการเคลื่อนไหวของต้นไม้ (หรือที่เรียกว่า "circumnutations") ที่มนุษย์ยังไม่รู้อีกบ้าง พวกเขาเลยทำการทดลองในเรือนกระจกและใช้เทคโนโลยีจับการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด เพื่อดูการขยับของดอกทานตะวันว่ามีข้อมูลใดๆ น่าสนใจโดยที่มนุษย์ไม่ทันสังเกตบ้างหรือเปล่า


คำตอบคือมี และทำให้เราต้องหันกลับไปมองต้นไม้ใหม่เลยล่ะ


อย่างแรกคือการที่ผู้ศึกษาได้เห็นว่าดอกทานตะวันมีการเคลื่อนที่ “แบบเวียนวน” อยู่ก่อนแล้ว เพื่อค้นหาแสงแดดในบริเวณรอบๆ กล่าวคือไม่ใช่แค่แสงที่ดึงดูดดอกทานตะวันเสียทีเดียว แต่เป็นดอกทานตะวันเองด้วย ที่พยายามหมุนตัวเหมือนนักบัลเลต์และมองหาแสงแดดอยู่เสมอ เพื่อที่จะเติบโตไปรับแสงแดดในทิศทางที่ถูกต้อง


และอย่างที่สองคือผลกระทบจากการเคลื่อนที่ของต้นไม้โดยรอบ ที่ผู้วิจัยพบว่าการปลูกดอกทานตะวันเดี่ยวๆ กับการปลูกแบบกลุ่ม ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันในแต่ละต้น โดยถ้าปลูกแบบกลุ่ม ทานตะวันมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนที่อย่าง “ซับซ้อนเกื้อกูลไปด้วยกัน” เพื่อเจริญเติบโตไปรับแสงแดดพร้อมๆ กัน ราวกับพวกมันสื่อสารกันอย่างไรอย่างนั้น


ถามว่าผลลัพธ์นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง? ทีมวิจัยได้บอกเล่าว่าในอนาคต พวกเขาตั้งใจศึกษารูปแบบการเคลื่อนไหวเหล่านี้ให้เข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อคาดเดาการเคลื่อนไหวที่จะทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ของการเพาะปลูกที่ดี อันนำมาซึ่งประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมนั่นเอง


“หรือพวกเราทุกคนอาจลองใช้ชีวิตด้วยความเร็วพอๆ กับต้นไม้เสียบ้าง เพื่อที่เวลาเดินตามถนน เราอาจจะได้เฝ้าสังเกตพวกมันเคลื่อนไหว หรือมีพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงอะไรบ้างนั้น” ผู้วิจัยทิ้งท้าย