นวัตกรรมใหม่ วัดคุณภาพดินด้วยการฟังเสียง เพื่อตรวจหาความหลากหลายทางชีวภาพ

รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบัน ดินทั่วโลกกว่า 75% กำลังเสื่อมโทรมลง แต่ในขณะเดียวกัน “ดิน” ก็เป็นที่อยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 60% ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในตอนนี้หลายการศึกษามุ่งไปที่การหาความรู้หรือหาทางออกให้กับหลายปัญหาที่กำลังเกิดในดิน


เช่นเดียวกับเหล่านักนิเวศวิทยาของมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สในประเทศออสเตรเลีย ที่กำลังมุ่งเน้นศึกษาในประเด็น ‘คุณภาพของดิน’ เนื่องจากพวกเขามองว่าคุณสมบัตินี้เป็นค่าพื้นฐานตั้งต้น ที่ถ้ามนุษย์สามารถวัดหรือปรับปรุงมันได้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามมาจะมีอีกมาก ซึ่งจุดตั้งต้นนี้เองที่ทำให้ในงานวิจัยล่าสุด เหล่านักนิเวศวิทยาได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ที่สามารถใช้วัดคุณภาพดินได้


โดยนวัตกรรมที่ว่านั้นคือ ‘เสียง’


จุดตั้งต้นของไอเดียนี้ เกิดจากชุดความรู้ที่ว่าในดินที่อุดมสมบูรณ์ จะมีการผสมผสานของเสียงที่แสนจะวุ่นวาย เนื่องมาจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากๆ ที่กระจายตัวอยู่ในดิน การที่พวกมันเคลื่อนไหวหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ที่ผู้ศึกษาหยิบมาใช้เป็นตัววัดแล้วอนุมานเชื่อมโยงไปยังคุณภาพของดินอีกต่อหนึ่ง


โดยวิธีการคือพวกเขาใช้เครื่องตรวจรับเสียงแบบพาสซีฟ วัดความดังจากดินผ่านกระบวนการสะท้อนเสียงและลดทอนเสียง เพื่อหาความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางเม็ดดินเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมด แมลงตัวจิ๋ว ไปจนถึงไส้เดือน เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงคุณภาพของดินได้ผ่านการเก็บเป็นชุดข้อมูลจำนวนมาก แล้วทำการกำหนดเกณฑ์ว่าดินที่มีคุณภาพดีต้องมีเสียงประมาณไหน


“นวัตกรรมนี้ถือเป็นคำมั่นสัญญจากพวกเราเหล่านักนิเวชวิทยาในการตอบสนองความต้องการทั่วโลกสำหรับวิธีการติดตามความหลากหลายทางชีวภาพในดินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก และเป็นประโยชน์สำหรับองค์ความรู้ที่จะตามมาอีกในอนาคต” ผู้วิจัยทิ้งท้าย