เด็กอายุ 17 ปีเสนองานวิจัย แปลงเสียงในสนามกีฬาเป็นไฟฟ้า ที่น่าสนใจคือนวัตกรรมนี้ดูเป็นไปได้เสียด้วย

เริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริงที่ชวนตื่นตาตื่นใจกันก่อน Gyeongyun Lily Min นักเรียนดาวรุ่งวัย 17 ปีจากโรงเรียนมัธยม Alfred M. Barbe ในเมืองเลคชาร์ลส์ รัฐลุยเซียนา ใช้เวลาตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา หมกตัวอยู่ที่ห้องทดลองชั่วคราวที่คุณพ่อปรับปรุงจากโรงจอดรถที่บ้าน สำหรับความพยายามในการแปลงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากคลื่นเสียงในสนามกีฬาให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า และหลังจากค้นคว้าหามหรุ่งหามค่ำ กยองยุนก็สามารถปรับปรุงแนวคิด ทำการทดลอง และวิเคราะห์ผลลัพธ์ออกมาจนสำเร็จ


แค่ประโยคข้างต้นก็ฟังดูน่าตื่นตาตื่นใจแล้วใช่ไหม? แต่รู้ไหมว่าในความเป็นจริง ความเป็นมาของเรื่องนี้ทำเอาตาลุกวาวมากกว่านั้นอีก เพราะไอเดียตั้งต้นของกยองยุนนั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก Monsters, Inc. ภาพยนตร์แอนิเมชันของดิสนีย์ ที่พลังงานในเรื่องถูกสร้างขึ้นจากเสียงกรีดร้องของเด็กๆ คยองยุนคิดต่อว่าถ้าดึงความโหดร้ายออกไป หรือเอาเข้าจริงแนวคิดนี้สามารถช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานที่ยั่งยืนของโลกได้กันนะ?


จากจุดนั้นเอง เมื่อผสมเข้ากับความหลงไหลในวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กยองยุนจึงเริ่มศึกษาแนวคิดนี้ด้วยตนเอง จนเธอค้นพบว่าในหลายสถานที่ ยกตัวอย่างเช่นสนามกีฬา พลังงานจลน์จากการสั่นสะเทือนเกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากเสียงที่ดังสนั่นกระทบกับทุกสิ่งที่อยู่โดยรอบ กล่าวคือเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็สูญเปล่าไปมากเนื่องจากหลายสถานที่เหล่านั้นไม่ได้มีนวัตกรรมที่สามารถแปลงพลังงานจลน์ดังกล่าว


แต่หนึ่งในตัวอย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว และเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาให้กยองยุนด้วย คือที่สถานีรถไฟชิบูย่าที่โตเกียว ที่มีการติดตั้งแผ่นเสื่อเพียโซอิเล็กทริกขนาด 14 ตารางนิ้วนอกสถานี โดยเจ้าแผ่นเสื่อนี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าทุกครั้งที่มีคนเหยียบ ซึ่งในแต่ละวัน สถานีรถไฟชิบูย่ามีคนเดินผ่านกว่า 2.4 ล้านคน แผ่นเสื่อดังกล่าวจึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ระหว่าง 0.1-0.3 วัตต์ต่อวินาทีเลยทีเดียว


จากความคิดและองค์ความรู้ตั้งต้นเหล่านั้นเอง กยองยุนจึงเลือกสนามกีฬาเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับโปรเจกต์ของเธอ เพราะโดยเฉลี่ยแล้วระดับเสียงในการแข่งขันกีฬามีค่าสูงถึง 110 เดซิเบล หลังจากนั้นกยองยุนจึงทำการทดลองในสนามบาสจำลอง และเปิดเสียงการเชียร์กีฬาจริงๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการแปลงพลังงานส่วนเกินเป็นพลังงานที่มีประโยชน์ ซึ่งสุดท้ายได้ออกมาเป็น ‘โมเดลเครื่องเก็บเกี่ยวพลังงาน’ ที่จากผลการทดลองในห้องทดลองที่บ้าน โมเดลของกยองยุนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 0.1 ต่อวินาที!


โดยหลังจากประสบความสำเร็จในขั้นทดลอง เธอส่งผลงานของตนเองเข้าประกวดจนคว้ารางวัลชนะเลิศด้านงานวิจัยสำหรับเยาวชน ซึ่งเหตุการณ์นั้นเองที่ทำให้กยองยุนได้รับความสนใจจนกลายเป็นข่าว และยังทำให้เหล่านักวิจัยตัวจริงหันมาให้ความสนใจด้วย โดยเธอและนักวิจัยเห็นตรงกัน ว่าถึงโมเดลจะประสบความสำเร็จแต่ในความเป็นจริง การนำไปใช้ยังต้องหาคำตอบด้านอื่นๆ อีกมาก เช่น ความคงทน และการกักเก็บพลังงาน แต่ถึงกระนั้น นักวิชาการก็ให้ความเห็นว่านี่เป็นไอเดียที่มีแวว และเห็นความเป็นไปได้ในการนำไปใช้จริงมากอยู่เหมือนกัน


“ถ้าในอนาคตเกิดการพัฒนาคุณภาพของอุปกรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ฉันเชื่อว่าเราสามารถปลดล็อกช่องทางใหม่สำหรับการผลิตพลังงานที่ยั่งยืนได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกิดอนาคตที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้นค่ะ” กยองยุนทิ้งท้าย