สี (รุ้ง) กับความเป็นเพศ สัญญะใกล้ตัวที่มีอำนาจมากกว่าตาเห็น

สี (รุ้ง) กับความเป็นเพศ 
สัญญะใกล้ตัวที่มีอำนาจมากกว่าตาเห็น

________


⠀⠀⠀Pride Month ในปี 2024 กำลังจะผ่านพ้น แต่ประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจจะยังถูกบันทึกให้คงอยู่ตลอดไป เมื่อ Pride Month ในปีนี้ ประเทศไทยของเราได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียและประเทศแรกในอาเซียนที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันตามกฎหมาย นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองสำคัญที่ทุกความรักได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี

สิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น เราจึงขอส่งท้ายด้วยการพาทุกคนไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ของ “สีรุ้งและความเป็นเพศ” กันสักหน่อย ว่ากว่าจะมีเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ จนผลิดอกออกผลอันงดงามในวันนี้ “สี” ส่งผลอย่างไรกับ “เพศ” ของมนุษย์เราบ้าง  


สีเอ๋ยสีรุ้ง

⠀⠀⠀เรารู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่จึงเข้าเดือน Pride Month แล้ว? แน่นอนว่าก็ต้องเพราะเราเริ่มพบเห็นสิ่งหนึ่งได้ทั่วทุกหนแห่ง นั่นคือ “ธงสีรุ้ง” ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกนำไปประยุกต์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า การผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่การใช้บนสื่อต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแต่ละสีก็มีความหมายที่สื่อถึงการมีชีวิตที่อิสระและทรงพลังในแบบของตัวเอง อาทิ สีแดง หมายถึง ชีวิต สีส้ม หมายถึง การเยียวยา เป็นต้น 

ถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า “เอ๋ แต่ละสีบนสีรุ้งนั้น ไม่ได้แทนแต่ละเพศหรอกหรือ?” ต้องตอบตามตรงว่า “ไม่ใช่จ้า” ซึ่งก็ไม่ผิดที่จะคิดเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เล็กจนโต เราเรียนรู้กันมาโดยตลอดทั้งจากสื่อ สินค้า การเลี้ยงดู และความเชื่อที่ว่า ‘สี’ สามารถใช้แทน ‘เพศ’ ได้ ดังเช่นที่เพศชาย มักถูกแทนด้วยสีฟ้า และเพศหญิง มักถูกแทนด้วยสีชมพู 


แต่รู้หรือไม่ ว่าในอดีต อรอนงค์ผู้น่ารักต่างหากที่เป็นเจ้าของสีฟ้า ชายชาตรีผู้มาดแมนแฮนด์ซั่มเท่านั้นที่ได้แต่งองค์สีชมพู และสีรุ้งไม่ใช่สีแรกที่ถูกใช้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ  


ประวัติศาสตร์ค่านิยมสีที่ (ดันไป) กำหนดเพศ

⠀⠀⠀ก่อนแนวคิดเรื่องสีสำหรับเพศจะแพร่หลายกันอย่างในทุกวันนี้ เมื่อหลายร้อยปีก่อน ‘สี’ ยังไม่มีการแบ่งเพศที่ชัดเจน คนทุกเพศทุกวัยจะสวมเสื้อผ้าสีสันหลากหลาย โดยสิ่งที่มีอำนาจในการกำหนดสีในยุคนั้นไม่ใช่ค่านิยมทางเพศอย่างใด แต่กลับเป็นเรื่องของชนชั้นเสียมากกว่า 

เมื่อเข้าศตวรรษที่ 19 ในยุควิคตอเรีย สีของเครื่องแต่งกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามวัฒนธรรม โดยเด็กผู้หญิงมักจะสวมใส่เสื้อผ้าสีฟ้า เพราะถูกมองว่าเป็นสีที่สื่อถึงความบริสุทธิ์และความสงบสุข ส่วนสีชมพูมักถูกใช้ในเสื้อผ้าของเด็กผู้ชาย เพราะถูกมองว่าเป็นสีเข้มที่แสดงถึงความเข้มแข็งและมีพลัง 

ค่านิยมนี้ ถูกใช้เรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแนวคิดใหม่จากความต้องการขายสินค้า ให้สีฟ้าเป็นของเด็กผู้ชาย เพราะให้ความรู้สึกที่สงบเหมือนน้ำทะเล และสีชมพูเป็นของเด็กผู้หญิง เพราะเป็นสีโทนอ่อนของสีแดงให้ความรู้สึกอ่อนหวานกว่า และเริ่มเด่นขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สินค้าสำหรับเด็กถูกแบ่งเป็นสองสีอย่างชัดเจน ‘สีฟ้า = เพศชาย’ และ ‘สีชมพู = เพศหญิง’ โดยไม่มีแตกแถว 

สีฟ้าและสีชมพู ก็ได้ใช้เวลานับจากนั้น ในการตั้งตัวเป็นสัญญะที่กำหนดความเป็นเพศอย่างแพร่หลายเรื่อยมา เนิ่นนานฝังรากลึกเสียจนกลายเป็นกรอบทางเพศ และเครื่องมือกดทับผู้ที่มีรสนิยมต่างจากนี้ โดยเฉพาะในผู้ชายที่ชื่นชอบสีชมพู ก็จะถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง ด้วยอคติที่มองว่าสีชมพูต้องเป็นของผู้หญิงเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีเพศใดหรือผู้ใด ‘เป็นเจ้าของสีชมพู’ 


สี (ก่อน) รุ้ง และการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

⠀⠀⠀ด้วยอำนาจของสีที่เป็นสัญญะในการกำหนดเพศ ทำให้ครั้งหนึ่งสีชมพูเดียวกันนี้เอง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการระบุตัวผู้มีความหลากหลายทางเพศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (die-Rosa Wickle) ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้แทนที่ในเชิงการเรียกร้องสิทธิ เพื่อรำลึกถึงสิ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกกระทำ 

อีกสีหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้ คือ “สีม่วง” ซึ่งดำรงต้นในฐานะสีแทนผู้รักเพศเดียวกันมานานนับศตวรรษ ไม่มีใครรู้ที่มาแน่ชัด บ้างก็ว่าเพราะเป็นสีตรงกลางระหว่างสีฟ้าและสีชมพู บ้างก็ว่ามาจากการที่ในสมัยก่อน ผู้รักเพศเดียวกันจะมอบดอกลาเวนเดอร์ซึ่งมีสีม่วงให้กับคนรักเพศเดียวกันของตน ทำให้ต่อมาคำว่า “ลาเวนเดอร์” หรือ “สีม่วง” กลายเป็นคำใช้แทนผู้มีความหลากหลายทางเพศในเชิงลบ รวมถึงในประเทศไทยเราเองที่มีการเรียกกลุ่ม Gay People ว่า “ชาวสีม่วง” เช่นกัน 

ก่อนต่อมา หลังเหตุการณ์ความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ Stonewall Inn ในปี 1969 เดือนธันวาคมในปีเดียวกันนั้น ได้มีการออกมาประท้วงครั้งใหญ่ของผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่หน้าตึกทำการของหนังสือพิมพ์ San Francisco Examiner ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงบทความที่มีลักษณะดูถูกและเหยียดหยามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

โดยในเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้บริหารของ San Francisco Examiner ตอบโต้ผู้ประท้วงโดยการเทหมึกพิมพ์สีม่วงลงมาจากหน้าต่างของสำนักงานใส่กลุ่มผู้ประท้วงที่อยู่ด้านล่าง หวังจะให้พวกเขาเปรอะเปื้อนและอับอาย แต่กลายเป็นว่ากลุ่มผู้ประท้วงได้โต้กลับโดยการป้ายมือสีม่วงไปตามกำแพงและท้องถนน เพื่อแสดงออกถึงการต่อสู้ สีม่วงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศนับจากนั้น


สีรุ้ง รุ่งอรุณแห่งความหวัง

⠀⠀⠀การก้าวเข้ามาของสีรุ้งในฐานะสัญญะของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศนั้น เริ่มขึ้นในปี 1978 เมื่อ Harvey Milk นักการเมืองและนักเรียกร้องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดขบวนเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบของขบวน Gay Pride ในการเดินขบวนครั้งนั้น เขาได้จ้างเพื่อนรักอย่าง Gilbert Baker ให้ออกแบบธงสัญลักษณ์ ซึ่งได้ออกมาเป็นธงรุ้งหลากสี

ก่อนต่อมาจะถูกลดทอนลง ด้วยข้อจำกัดของการผลิตต่าง ๆ นานา จนได้ออกมาเป็นธง Pride อย่างที่เราเห็นและใช้โบกสะบัดกันอย่างภาคภูมิใจในปัจจุบัน 


สีอาจเป็นสัญญะหนึ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง เพราะเป็นสิ่งเด่นชัดที่สุดที่ตาคนเรามองเห็น แต่ไม่ว่าสีนั้นจะมีอำนาจเพียงใด หรือถูกกำหนดให้ผูกโยงกับความเป็นเพศใด ก็อย่าได้ให้ความหมายเหล่านั้นมาครอบงำความเป็นตัวคุณเป็นอันขาด 

ขอให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิ ไม่ใช่เพียงแค่ในเดือน Pride นี้ แต่ตลอดไป ในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง Happy Pride 


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #Pride #PrideMonth #สมรสเท่าเทียม