ไหนใครเคยกดซื้อของ เพียงเพราะชอบคอนเทนต์ของร้านค้าบ้าง ยกมือขึ้น
หรืออย่างน้อยแม้ไม่ได้กดซื้อทันที แต่เมื่อไหร่ที่เราอยากได้สินค้านี้ขึ้นมา เราจะนึกถึงคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าที่เคยผ่านตา และมีโอกาสจะย้อนกลับไปซื้อที่ร้านค้านั้น ๆ ได้สูงมากทีเดียว นั่นเพราะในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ชอบที่จะได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ และอยากได้ประสบการณ์สนุก ตื่นเต้น หรือแปลกใหม่ มากกว่าซื้อแล้วจบ อะไรที่ดึงดูดและติดอยู่ในความทรงจำของพวกเขา ก็มีแนวโน้มจะถูกซื้อได้มากกว่า
⠀⠀⠀สิ่งนี้เรียกว่า กลยุทธ์ ‘Shoppertainment’
⠀⠀⠀‘Shoppertainment’ (อ่านว่า ช้อป-เพอะ-เทน-เม้น) เป็นการรวมกันของคำว่า Shopping (การซื้อ) และ Entertainment (ความบันเทิง) ซึ่งหมายถึง กลยุทธ์ทางการตลาดที่ผสมผสานความบันเทิงเข้ากับประสบการณ์การซื้อ เพื่อดึงดูดความสนใจ สร้างการมีส่วนร่วม และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่การขายสินค้าตรง ๆ เพียงอย่างเดียว
ซึ่งในความเป็นจริง สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้ทั้งกับแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ แต่ในปัจจุบันฝั่งออนไลน์จะโดดเด่นเสียมากกว่า เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากกระแสการมาของคอนเทนต์ได้อย่างเต็มที่
โดยข้อมูลจากแพลตฟอร์ม TikTok เผยว่า ผู้ใช้งานกว่า 70% ตัดสินใจซื้อสินค้าหลังจากดูคอนเทนต์บน TikTok โดยเฉพาะในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีแนวโน้มจะตัดสินใจซื้อสินค้าที่ตัวเองถูกใจคอนเทนต์ แม้ไม่ได้มีความตั้งใจจะซื้อสินค้านั้นแต่แรก
⠀⠀⠀นี่จึงถือเป็นโอกาสดีของร้านค้าและแบรนด์ที่จะหันมากระตุ้นการขายด้วยกลยุทธ์ Shoppertainment
⠀⠀⠀หัวใจหลักของ Shoppertainment คือการดึงดูดผู้บริโภคด้วยอารมณ์ (Emotional Connection) เน้นให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกไปกับคอนเทนต์ โดยไม่ยัดเยียดการขายจนเกินไป ผู้บริโภคจึงไม่รู้สึกว่ากำลังถูกกดดันให้ซื้อ แต่เป็นการตัดสินใจซื้อด้วยความสมัครใจและชื่นชอบของตัวเอง ซึ่งเราสามารถสร้างสรรค์วิธีนำเสนอได้ตามลีลาที่ถนัด อาจเป็นได้ทั้งคอนเทนต์ในรูปแบบที่ให้ความสนุกสนาน ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ รวมไปถึงการรีวิวและให้ข้อมูลโดยตรง
⠀⠀⠀ยกตัวอย่าง ร้านกระเป๋าแบรนด์หนึ่ง ที่เจ้าของแบรนด์จะเป็นผู้นำกระเป๋าไปส่งถึงมือลูกค้าด้วยตัวเองทุกออเดอร์ และถ่ายวิดีโอในทุกขั้นตอนของการเดินทางไปส่ง ช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมกดสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น เพราะรู้สึกอยากได้รับประสบการณ์การดูแลอย่างพิถีพิถันเช่นเดียวกัน
⠀⠀⠀ด้วยว่าการนำเสนอในรูปแบบคอนเทนต์นั้น มีอิสระสูงมากในการให้ข้อมูล ทำให้ผู้บริโภคสามารถเอาตัวเองไปมีส่วนร่วมในส่วนใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอมเมนต์เพื่อแสดงความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์ การสอบถามโดยตรงผ่าน Live หรือการเชิญชวนให้ผู้บริโภคเข้าร่วมแคมเปญและสร้างคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับสินค้าเป็นของตัวเอง
⠀⠀⠀ผู้บริโภคหลายคนอาจมีตัวเลือกในใจแล้วว่าตนเองต้องการสินค้าใด แต่ต้องการเพียงคนยืนยันว่าสินค้านี้เป็นตัวเลือกที่ดีจริง ๆ ซึ่งพวกเขาจะมองหาการยืนยันนี้จากคอนเทนต์การรีวิวสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการให้ข้อมูลเป็นข้อ ๆ จากร้านค้าหรือแบรนด์โดยตรง
⠀⠀⠀ยกตัวอย่างจากแบรนด์แชมพูหนึ่ง เป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนเล็ก ๆ ที่ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการช่วยติดฉลากสินค้า โดยส่วนใหญ่ก็ติดเบี้ยวไปมาตามสภาพที่ร่างกายอำนวย ซึ่งแน่นอนว่าหากวางขายในท้องตลาดย่อมเป็นสินค้าที่คนมองว่าไม่น่าหยิบซื้อ แต่เมื่อมีการนำเสนอเบื้องหลังการทำ ก็ยิ่งกระตุ้นให้คนอยากซื้อมากขึ้น เพราะต้องการสนับสนุนรายได้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน สร้างคุณค่าในอีกรูปแบบหนึ่งให้สินค้า
⠀⠀⠀เพราะกลยุทธ์ Shoppertainment ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อให้ร้านค้าเล็ก ๆ ได้มีพื้นที่นำเสนอสินค้าตัวเองโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก อาศัยเพียงไอเดีย ความตั้งใจ และความสม่ำเสมอ ก็สามารถขยายโอกาสให้ธุรกิจได้
โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok ที่ถือเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มสำหรับคอนเทนต์วิดีโอสั้น ซึ่งในตอนนี้ได้เพิ่มปุ่มกดสั่งซื้อเข้าไปบนฟีเจอร์ของวิดีโอเรียบร้อย เรียกง่าย ๆ ว่า พอชมวิดีโอเกี่ยวกับสินค้าปุ๊บ อยากซื้อปั๊บ ก็กดสั่งซื้อได้เลยทันที สามารถจบการขายได้เลยโดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องกดออกจากแอปพลิเคชัน
⠀⠀⠀แพลตฟอร์ม TikTok จึงเป็นตัวเลือกที่เราแนะนำสำหรับผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ ที่สนใจอยากลองใช้กลยุทธ์ Shoppertainment ซึ่งก็สามารถสร้างสรรค์การนำเสนอได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้
⠀⠀⠀หวังว่าข้อแนะนำเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทุกท่าน สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่มีความสนใจอยากพัฒนาสินค้า หรือยกระดับธุรกิจ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการกับ STeP ของเราได้ผ่านทุกช่องทางติดต่อของ CMU STeP หรือเดินทางมาหาเราโดยตรงได้ที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #StartupStory #Shoppertainment #Startup #SME