“Sleep Economy” สินค้าและบริการเพื่อคนนอนไม่หลับ โอกาสของธุรกิจสุขภาพที่อยากให้ทุกคนพักผ่อนเพียงพอ

“Sleep Economy” สินค้าและบริการเพื่อคนนอนไม่หลับ 
โอกาสของธุรกิจสุขภาพที่อยากให้ทุกคนพักผ่อนเพียงพอ 

_________


วันศุกร์ที่สองของเดือนมีนาคมในทุก ๆ ปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันนอนหลับโลก” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาของการนอนหลับ

⠀⠀⠀แม้เราทุกคนจะรู้ดีว่า มนุษย์ในวัยทำงานควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อคืน แต่ดูเหมือนการนอนให้พอจะจัดอยู่ในหมวด “รู้ ... แต่มันทำไม่ได้” ของใครหลายคน กลายเป็น Pain Point สร้างโอกาสให้ ‘Sleep Economy’ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนอนเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

มาดูกันว่า เจ้า Sleep Economy นี้มันคืออะไรกันแน่ มีที่มาอย่างไร และผู้ประกอบการอย่างเรา ๆ จะหาจังหวะชุลมุนเข้าไปคว้าโอกาสในตลาดนี้ได้อย่างไรบ้าง



สังคมแห่งการอดนอน

⠀⠀⠀ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเผยว่า คนไทยกว่า 40% มีปัญหาเรื่องการนอน ทั้งอาการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือหลับไม่สนิท ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่น โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คนเกิด “ภาวะเครียด วิตกกังวล” จนนำมาสู่อาการนอนไม่หลับ และเชื่อหรือไม่ว่ามันกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน

การนอนไม่เพียงพอ หรืออดนอน สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการทำงานลดลง นำไปสู่การขาดงาน เนื่องจากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพ ส่งผลให้ในแต่ละปีองค์กรต่าง ๆ ต้องสูญเสียวันทำงาน โดยมีงานวิจัยรองรับว่า การอดนอนนั้น สามารถกระทบต่อ GDP ประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ได้เลยทีเดียว ในทางตรงกันข้ามประเทศไหนที่ประชาชนนอนหลับเพิ่มขั้นอย่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นๆ ได้

แต่ผลกระทบในเชิง GDP อาจจะมองดูไกลตัวไปเสียหน่อย หากเทียบกับผลกระทบทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้อดนอนโดยตรง ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อีกมาก รวมถึงประสิทธิภาพการรับรู้และการตัดสินใจที่ลดลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อตนเองและผู้อื่นได้


‘Sleep Economy’ จึงสำคัญ ขึ้นทันใด

⠀⠀⠀ด้วยผลกระทบที่น่ากังวลมากมาย ผู้คนจึงพยายามต่อสู้กับปัญหาด้านการนอน นั่นทำให้ ‘Sleep Economy’ ค่อย ๆ เติบโตขึ้น 

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2024 มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ จะสูงถึง 585 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพการนอน ทั้งการนอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อเยียวยาจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ จึงเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่าง ๆ พัฒนาธุรกิจหรือสินค้าเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่

ในตลาดไทยเอง ก็เริ่มเห็นสินค้าและบริการช่วยการนอนหลับในหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ทั้งผู้ผลิตแบรนด์รายใหญ่ และรายใหม่ที่เข้ามาทำตลาด อาทิ แอปพลิเคชัน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริม เครื่องดื่มที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น, ชุดนอนที่ทอด้วยเส้นใยผ้านุ่ม เบา สบาย, เครื่องนอนที่ปรับให้เข้ากับสรีระและท่าทางการนอน เป็นต้น


โอกาสของธุรกิจสุขภาพ ที่มาพร้อมความปรารถนาดีให้ทุกคนพักผ่อนเพียงพอ

⠀⠀⠀จากการศึกษาของ McKinsey & Company ได้แนะนำ 3 แนวทางช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นต้นคิดสำหรับสินค้าและบริการด้านการนอนได้ ดังนี้

1. สินค้าที่ช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม - ผ่อนคลาย – สบายตัว 

⠀⠀⠀หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนนอนหลับง่ายขึ้น คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อน เฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอน เครื่องนอน อาทิ ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หมอน ที่มีนวัตกรรมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอน รวมไปถึงแกดเจ็ตหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้การนอนเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น อาทิ เครื่องพ่นความชื้น โคมไฟกล่อมนอน น้ำพุสร้างเสียงฝน 

เหล่านี้มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก และมีแบรนด์ใหญ่หลายเจ้าที่กระโจนเข้ามาลงเล่นในตลาดหมวดนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

2. สินค้าที่ช่วยเรื่องการปรับกิจวัตรประจำวัน 

⠀⠀⠀การปรับกิจวัตรประจำวันเพื่อให้การนอนหลับดีขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำ และง่ายต่อการเริ่มด้วยตัวเอง สินค้าจำพวกอาหารเสริมที่มีสรรพคุณช่วยในการผ่อนคลาย อาทิ ชาหรือแคปซูลสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่ช่วยปลอบประโลมจากความเหนื่อยล้า รวมถึง Smart Device ที่ช่วยวัดการนอนหลับ นาฬิกาปลุกอัจฉริยะ หรือแอปพลิเคชันที่ช่วยติดตามการนอน จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาและจ่ายเงินให้กับมันมากขึ้น

3. สินค้าและบริการที่ช่วยในการบำบัดรักษา 

⠀⠀⠀อีกหนึ่งทางออกสำหรับอาการนอนไม่หลับ คือการเข้ารับการบำบัดหรือรักษาโดยตรง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่เปิดใจให้กับการบำบัดที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสปานวดศีรษะ การเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างสมาธิ ผ่อนคลายความตึงเครียด รวมถึงการยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าจำพวกเครื่องช่วยนอนหลับ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กระตุ้นการหลับ เครื่องลดการกรน เหล่านี้อีกด้วย


ยกตัวอย่างสินค้าที่ช่วยเรื่องหลับ ๆ นอน ๆ ทั้งทางตรง และทางอ้อม

  • P80 เครื่องดื่มสมุนไพรจากลำไยเข้มข้น — สกัดด้วยนวัตกรรม คงคุณค่าสารสำคัญ 5 ชนิดในผลลำไยไว้อย่างครบถ้วน มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการนอนหลับโดยตรง บรรเทาความเครียด เพิ่มความผ่อนคลาย ให้ร่างกายปรับสมดุลและนอนหลับได้ง่ายขึ้น 

  • V FLOW แคปซูลสกัดจากพุทราจีน ขิง และเห็ดหูหนูดำ — มีสรรพคุณทางยา ช่วยลดความเสี่ยงของอาการต่าง ๆ ในหลอดเลือด ลดความดัน อาการเวียนศีรษะ ที่อาจเกิดขึ้นจากความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ 

  • DR. OIL ครีมนวดจากสมุนไพรไทย — ผลิตด้วยนวัตกรรมนา-โนเทคโนโลยี ช่วยฟื้นฟู บรรเทา หายจากการปวดเมื่อย ออกฤทธิ์เร็วและยาวนาน ช่วยช่วยให้ผ่อนคลาย กระตุ้นความรู้สึกอยากนอนได้เป็นอย่างดี


⠀⠀⠀โดยสินค้าที่ยกมาทั้ง 3 ชิ้นนี้ เรามีวางขายที่ NSP INNO STORE (พื้นที่ทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของผู้ประกอบการที่เข้ารับบริการจากอุทยานฯ) สามารถไปจับจ่ายซื้อของ หรือเดินเล่นหาแรงบันดาลใจสำหรับพัฒนาสินค้ากันได้ หรือผู้ประกอบการท่านใด มีความสนใจอยากทำธุรกิจ - ผลิตสินค้า เกี่ยวกับการหลับ ๆ นอน ๆ เหล่านี้ด้วยตัวเอง ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ CMU STeP ทุกช่องทางการติดต่อ หรือเดินทางเข้ามาหาเราได้โดยตรงที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)  


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #StartupStory #SleepEconomy #โรคนอนไม่หลับ #วันนอนหลับโลก 


แหล่งอ้างอิง

https://capitalread.co/sleep-economy/

https://www.dailynews.co.th/news/2855615/

https://www.marketingoops.com/reports/sleep-economy/