ทุกอย่าง 20! ธุรกิจแบบ “ร้านราคาเดียว” กลยุทธง่าย ๆ แต่สร้างการขายที่ทรงพลัง
ใครเป็นแฟนคลับร้านทุกอย่าง 20 บาทบ้าง ยกมือ
⠀⠀⠀แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงร้านค้าราคาถูก หรือคุ้มค่าการจ่าย หลายคนจะต้องนึกถึงร้านค้าที่ขายทุกอย่างราคาเดียว ให้เราสามารถหยิบจับใส่ตะกร้าได้โดยไม่ต้องพลิกดูราคา ซึ่งก็มีตั้งแต่เริ่มต้นกันที่ทุกอย่าง 10 บาท 20 บาท 49 บาท ไปจนถึง 60 บาท หรือ 69 บาทเลยทีเดียว
แต่ไม่ว่าจะตั้งราคาที่เท่าไหร่ ร้านเหล่านี้ก็ดูจะได้รับความนิยมด้วยกันทั้งสิ้น จนคันไม้คันมืออยากจะลองถอดโมเดลธุรกิจเหล่านี้ดูสิว่า อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จกัน
“ร้านราคาเดียว” คืออะไร ขยายความเข้าใจกันอีกสักนิด
⠀⠀⠀ร้านราคาเดียว ก็คือร้านที่กำหนดราคาขายแบบ ‘ทั้งร้านราคาเดียว (One Price)’ ยกตัวอย่าง ร้านทุกอย่าง 20 บาท ก็หมายถึงไม่ว่าสินค้าอะไรก็ตามที่วางอยู่ในร้านค้าก็จะขายราคา 20 บาทเหมือนกันทั้งหมด วิธีการตั้งราคาแบบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสินค้าข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังถูกนำไปใช้กับร้านกิฟต์ช็อป ร้านขายกับข้าวตักถุง ร้านขนม ร้านน้ำชง รวมไปถึงร้านชาไข่มุกอีกด้วย
“ร้านราคาเดียว” เริ่มมาจากไหน ทำไมถึงได้รับความนิยม
⠀⠀⠀หากย้อนกลับไป ร้านค้าราคาเดียวถือเป็นโมเดลจากร้าน 100 เยนในประเทศญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยพฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่ได้ซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียวชิ้นเดียว จะเลือกซื้อสินค้าหลายๆ อย่างติดมือกลับบ้านไปด้วย การตั้งราคาเดียวจึงง่ายต่อการตัดสินใจได้อย่างซื้อรวดเร็ว สามารถเลือกหยิบได้ทันที โดยไม่ต้องคำนึงว่าราคาสินค้าจะถูกหรือแพง
จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ร้าน 100 เยน มีสาขาเฟรนไชน์กระจายไปยังหลากหลายประเทศ และยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง มีหลายที่รวมถึงประเทศไทย ได้นำกลยุทธ์นี้ไปประยุกต์ใช้ปรับเปลี่ยนสินค้าและราคาให้เหมาะกับความต้องการและกำลังซื้อของคนแต่ละพื้นที่ จนกลายเป็นอีกหนึ่งประเภทธุรกิจที่คุ้นเคยกันดี
จะสากกะเบือหรือเรือรบ ก็ราคาเดียวอย่างนี้ สร้างกำไรจากไหน
⠀⠀⠀กลยุทธ์ราคาเดียว เป็นการคิดราคาสินค้าโดยเฉลี่ยต้นทุนทั้งหมดของร้าน สินค้าบางชิ้นจึงอาจมีต้นทุนใกล้เคียงหรือสูงกว่าราคาขาย แต่ก็มีบางส่วนเช่นกันที่มีต้นทุนต่ำกว่าราคาขายมาก มันจึงเป็นการยอมขาดทุนในสินค้าบางรายการ เพื่อเป็นตัวเรียกลูกค้าเข้าร้านให้ซื้อในปริมาณมาก ๆ และอาศัยกำไรจากการถัวเฉลี่ยนั่นเอง
ข้อดี ราคาเดียว
⠀⠀⠀แม้การถัวเฉลี่ยกำไรจะฟังดูน่ากังวลสำหรับบางคน แต่ร้านค้าราคาเดียวยังมีข้อดีในตัวเองอีกหลายประการที่ช่วยปิดจุดอ่อนในข้อได้ อาทิ
ลูกค้าซื้อทีละหลายชิ้น — ด้วยสินค้าหยิบง่าย จ่ายคล่อง เพราะราคาเดียวนี่ล่ะที่ทำให้ลูกค้าไม่ต้องคิดเยอะ
ร้านค้าราคาเดียว ตั้งอยู่ที่ไหนใครก็ซื้อ — ด้วยว่าเป็นร้านค้าที่มีแบรนด์เรื่องราคาเป็นของตัวเองอยู่แล้ว จึงดึงดูดความสนใจลูกค้าได้ไม่ยาก
ช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนบริหารจัดการลง — ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานเยอะ เพราะไม่ต้องใช้คนแนะนำสินค้า หรือไม่ต้องมีคนคอยติดป้ายราคา ขั้นตอนการคิดเงินก็ง่ายขึ้น สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ข้อผิดพลาดก็น้อยลงตามไปด้วย
อยากเปิดร้านราคาเดียว ต้องคำนึงอะไรบ้าง
หลายคนอาจเชื่อว่าการเน้นขายสินค้าราคาถูกเพียงอย่างเดียว จะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ราคาของสินค้าเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของโมเดลธุรกิจประเภทนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งเราไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เช่น
ถูกอย่างเดียวไม่พอ ต้องครบ และหลากหลาย
⠀⠀⠀เรียกว่าเป็นคุณสมบัติในอุดมคติของร้านค้าเลยทีเดียว แต่นั่นคือจุดแข็งสำคัญที่ลูกค้าคาดหวังจากร้านค้าราคาเดียว คือการเดินเข้ามาแล้วต้องได้สินค้าครบตามความต้องการในราคาที่ยินดีจ่ายอย่างไม่คิดมาก หากสามารถทำได้ ก็ไม่ต้องห่วงว่าลูกค้าจะปันใจไปหาร้านอื่นเลย
ทำเลดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
⠀⠀⠀แม้สำหรับร้านค้าประเภทนี้ ทำเลจะไม่ใช่ตัวตัดสินอนาคตของกิจการ แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ควรอยู่ในทำเลที่ลูกค้าสามารถเดินทางและแวะจอดรถซื้อในเวลาสั้น ๆ ได้อย่างสะดวก ยิ่งตั้งอยู่ในละแวกที่มีร้านค้าหรือคนสัญจรไปมาเยอะยิ่งดี เพราะพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายนี่ล่ะ คือลูกค้าประจำของร้านประเภทนี้
สินค้าตอบโจทย์ทำเล
⠀⠀⠀ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว ซึ่งนอกจากได้ทำเลดีแล้ว เราต้องคอยสังเกตด้วยว่าละแวกทำเลของเราเป็นพื้นที่แบบไหน เช่น หากร้านเราอยู่ใกล้โรงเรียน สินค้าภายในร้านก็ควรจะเป็นเครื่องเขียน กิฟต์ช็อป หรือสินค้าสำหรับเด็กเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราไปเปิดร้านแบบนี้ในตลาด สินค้าภายในร้านก็ควรเป็น ถุง ถัง กะละมัง จาน ชาม หรือถ้าไปเปิดร้านในบริเวณที่ชาวบ้านทำเกษตรกรรม ก็ควรมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมภายในร้าน เป็นต้น
อย่าลืมบริหารคลังสินค้าให้ดี
⠀⠀⠀การทำร้านประเภทนี้เราต้องคอยเติมสินค้าบนชั้นวางอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้ว่างหรือหมด เพราะหากลูกค้าเข้ามาแล้วไม่เจอสินค้าที่จำเป็นต้องซื้อ เขาอาจไม่กลับมาอีกเลยก็ได้ ทางที่ดีต้องคอยสังเกตสต็อกสินค้าอยู่เสมอ รวมถึงพิจารณาปริมาณการซื้อด้วยว่าอันไหนคนซื้อเยอะ ก็ตุนสต็อกไว้ให้เพียงพอ อันไหนคนซื้อน้อย ก็ลดสต็อกลงมาหน่อยก็ได้
⠀⠀⠀และนี่คือกลยุทธง่าย ๆ แต่สร้างการขายที่ทรงพลังของร้านค้าราคาเดียว หรือร้านทุกอย่าง 20 ที่เรารู้จัก ซึ่งไม่เพียงแค่ร้านขายของชำเท่านั้น โมเดลนี้สามารถนำไปประยุกต์ได้กับธุรกิจประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านให้ลองนำไปปรับใช้กันนะ
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #StartupStory #businessmodel #โมเดลธุรกิจ #ร้านทุกอย่าง20 #ร้านค้าราคาเดียว
ขอบคุณแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://www.brandcase.co/42352