#วันแรดโลก นี้ ขอพาย้อนรอยวิวัฒนาการ 50 ล้านปี กว่าจะ #แรด ได้อย่างทุกวันนี้ ผ่านอะไรมาบ้าง

#วันแรดโลก นี้ ขอพาย้อนรอยวิวัฒนาการ 50 ล้านปี กว่าจะ #แรด ได้อย่างทุกวันนี้ ผ่านอะไรมาบ้าง 


⠀⠀⠀เราอาจคุ้นชินกับคำว่า “แรด” ในเชิงการเปรียบเปรยพฤติกรรมที่แฝงอคติทางเพศ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง คำนี้ก็มีที่มาจากข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของแรดเพศเมีย ซึ่งเมื่อเข้าช่วงวัยเจริญพันธุ์จะต่อสู่กันเพื่อการแย่งชิงเพศผู้มาผสมพันธุ์ 

“แรด”  เป็นสัตว์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวสูง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเอ่ยถึงเจ้าสัตว์ชนิดนี้ เราย่อมนึกถึงเขาที่งอกแหลมยื่นยาวออกมาบริเวณสันจมูก หรือที่เรียกว่า “นอ” แต่รู้หรือไม่ว่า สิ่งมีชีวิตที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแรดตัวแรกของโลกนั้น กลับไม่ได้มีนอ ไม่ได้หนังด้านหนา และมีขนาดตัวพอ ๆ กับสุนัขบ้านในปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ 

ในโอกาสวันที่ 22 กันยายน เป็น #วันแรดโลก เราจึงจะขอพาทุกคนมาย้อนร้อยวิวัฒนาการ 50 ล้านปีของเจ้าสิ่งมีชีวิตมากเอกลักษณ์ตัวนี้ ว่ากว่าจะมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากช้างได้ “แรด” ผ่านอะไรมาบ้าง  



 แรดรุ่นบุกเบิก

⠀⠀⠀มีการค้นพบฟอสซิลของ “ไฮราคูอัส (Hyrachyus)” ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นแรดรุ่นแรก มีชีวิตอยู่ในยุคอีโอซีนตอนต้น หรือย้อนไปถึงประมาณ 56 ล้านปีก่อน โดยบรรพบุรุษของแรดชนิดนี้ มีรูปร่างคล้ายม้า ขายาว ตัวเพรียว มีขนาดเล็ก และไม่มีนอ เรียกว่าแทบไม่มีส่วนไหนเหมือนกับแรดที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเลยสักนิด



 ยุคทองของแรด

⠀⠀⠀เมื่อเข้าสู่ยุคอีโอซีนอย่างเป็นทางการ (ราว 50 – 34 ล้านปีก่อน) นับว่าเป็นยุครุ่งอรุณของเหล่าแรด ในช่วงเวลานี้แรดวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยได้แตกหน่อจากไฮราคูอัสออกเป็น 3 ตระกูล ได้แก่ 

 แรดนักวิ่ง (Hyracodontidae) มีลักษณะรูปร่างเพรียว ขายาวคล้ายเดิม เพิ่มเติมคือขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น พร้อมคอที่ยาวขึ้น มีบางชนิดที่สามารถวิวัฒนาการจนมีขนาดตัวเทียบเท่าไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่เลยทีเดียว

 แรดน้ำ (Amynodontidae) มีรูปร่างคล้ายฮิปโปโปเตมัส ไม่มีนอ แต่มีเขี้ยวขนาดใหญ่แบบเดียวกับฮิปโปฯ โดยนักบรรพชีวินวิทยาคาดการณ์ว่าแรดตระกูลนี้อาจอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำเหมือนฮิปโปฯ ในปัจจุบัน

 และสุดท้าย แรดมีนอ (Rhinocerotidae) ซึ่งแน่นอนว่าลักษณะเด่น คือนอหรือเขาที่อยู่บนใบหน้า แรดมีนอรุ่นแรก มีขนาดเล็กและรูปร่างคล้ายพวกแรดนักวิ่ง ก่อนจะมีขนาดเท่ากับหมูตัวใหญ่ในยุคต่อมา มีขายาวคล้ายแรดรุ่นแรก โดยตัวผู้จะมีนอสองอันตั้งคู่กันเหนือจมูก ส่วนตัวเมียจะไม่มีนอ



 เมื่อ “นอ” คือผู้อยู่รอด

⠀⠀⠀หลังสิ้นสุดยุคอีโอซีน เข้าสู่ยุคโอลิโกซีน (ราว 34 - 23 ล้านปีก่อน) ได้มีการแพร่กระจายของแรดทั้ง 3 ตระกูล ไปยังทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ด้วยปัจจัยทางสภาพอากาศและแหล่งอาการ ทำให้ประชากรแรดหลายชนิดทยอยสูญพันธุ์ไป 

กระทั่งล่วงเลยเข้าสู่ยุคไมโอซีน (ราว 23 - 5 ล้านปีก่อน) ก็หลงเหลือเพียงแรดมีนอเท่านั้นที่อยู่รอด และได้วิวัฒนาการต่อมา จนมีชนิดพันธุ์ที่ใหญ่ขึ้น มีขาที่สั้นลง ส่วนลำตัวก็อ้วนกลมคล้ายแรดที่เราคุ้นเคย เว้นแต่ขาที่สั้นกว่ามาก และในยุคนี้เองที่เริ่มปรากฏให้เห็นเค้าโครงของสปีชีส์แรดทั้ง 5 ชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน



 ต้นแบบของสัตว์ในตำนาน

⠀⠀⠀กระทั่งในช่วงยุคเพลสโตซีน (ราว 2 ล้าน - 10,000 ปีก่อน) เป็นช่วงเวลาที่เกิดยุคน้ำแข็งในหลายพื้นที่ แรดที่อาศัยอยู่ในดินแดนเหล่านั้นก็ได้วิวัฒนาการให้มีขนปกคลุมร่างกาย โดยแรดขนยาวชนิดนี้มีชื่อว่า อีลาสโมเธเรียม หรือเรียกอีกอย่างว่า “แรดยูนิคอร์น” จากการที่นอของมันกินพื้นที่ส่วนใหญ่บนกะโหลก ทำให้มองเผิน ๆ คล้ายกับว่านอของมันตั้งอยู่บนหน้าผากมากกว่าส่วนจมูก ซึ่งคาดว่าความเข้าใจนี้น่าจะกลายมาเป็นต้นแบบของสัตว์ในตำนานอย่างม้ายูนิคอร์นที่เรารู้จักกันนั่นเอง 



 จากคำแขวะใช้ติดปาก สู่สัตว์หายากใกล้สูญพันธ์ 

⠀⠀⠀การสิ้นสุดของยุคน้ำแข็งได้ทำให้แรดหลายชนิดสูญพันธุ์ไป จนเหลือแรดอยู่เพียง 5 ชนิดที่ยังคงอยู่รอดมาได้ถึงยุคปัจจุบัน ได้แก่ แรดขาวและแรดดำแห่งทวีปอาฟริกา แรดอินเดีย แรดชวา และกระซู่หรือแรดสุมาตราแห่งทวีปเอเชีย

แต่ทว่าสถานการณ์ก็นับว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธ์มาก จากข้อมูลของ International Rhino Foundation ระบุว่า ในปี 2023 มีแรดเหลืออยู่ทั่วโลกประมาณ 27,000 ตัวเท่านั้น โดยสาเหตุหลักของการลดลงของประชากรแรด คือการถูกล่าโดยมนุษย์จากความเชื่อที่ว่านอแรดเป็นยา จนเป็นเรื่องน่าเศร้าที่นักอนุรักษ์ในบางประเทศจำเป็นต้องตัดนอแรด เพื่อช่วยชีวิตแรดจากขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่า 



 ขอให้แรดหนึ่งวัน

⠀⠀⠀วันที่ 22 กันยายน ถูกกำหนดให้เป็น “วันแรดโลก (World Rhino Day)” โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงการล่าแรดสายพันธุ์ต่าง ๆ จนใกล้สูญพันธุ์ และบางประเทศก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 

ประเทศไทยของเราเองก็เช่นเดียวกัน ในอดีตพบว่าเคยมีแรดชวาและแรดสุมาตรา (กระซู่) อาศัยอยู่ แต่ก็ได้สูญพันธ์ไปจากธรรมชาติของเรากว่า 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันประเทศไทย เหลือแรดเพียงตัวเดียวเท่านั้น อยู่ที่สวนสัตว์ เชียงใหม่ ชื่อว่า “กาลิ” ซึ่งล่วงเลยเข้าสู่วัยชราเต็มที หากวันหยุดนี้ใครที่อยู่เชียงใหม่แต่ไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหน สามารถแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมคุณยายกาลิกันได้  https://goo.gl/maps/KXNsSj6cXtrU54T27 



⠀⠀⠀จากเส้นทางการวิวัฒนาการของแรดตลอด 50 ล้านปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกินหากสัตว์โลกที่มีร่องรอยการเดินทางของสปีชีส์ที่ยาวนานเช่นนี้อาจต้องมาสูญพันธุ์ไปในยุคของพวกเรา หวังว่าเรื่องเล่าของแรดนี้ จะเป็นส่วนช่วยให้เราทุกคนตระหนักถึงการไม่ใช้สิ่งของที่นำมาจากสัตว์ป่า เพื่อให้ไม่มีสัตว์ต้องถูกล่าเพื่อประโยชน์เพียงเล็กน้อยอีกต่อไป 

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #WorldRhinoDay #วันแรดโลก #วันอนุรักษ์แรดโลก 

https://pantip.com/topic/30870611

https://www.khaosara.com/?p=9021

https://www.komchadluek.net/kom.../general-knowledge/530606