การตั้งอาณานิคมใหม่บน #ดาวอังคาร เป็นทฤษฎีที่เราได้ยินได้ฟังกันมานาน ถูกนำเสนอผ่านหนัง มังงะ หรืออนิเมะ ก็บ่อยครั้ง ด้วยว่าในบรรดาดาวเคราะห์ที่ถูกสำรวจจนถึงปัจจุบัน เจ้าดาวเคราะห์สีแดงนี้ มีสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับโลกที่สุด
และดูเหมือนสิ่งนี้จะเข้าใกล้ความจริงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากการประกาศของ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอของบริษัทขนส่งอวกาศสเปซเอกซ์ (SpaceX) ถึงวิสัยทัศน์ของเขาในการสร้างเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยราว 1 ล้านคนบนดาวอังคารให้สำเร็จภายในปี 2050 โดยได้เริ่มการทดสอบยานต้นแบบสำหรับขนส่งประชากรโลกไปแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ถึงอย่างนั้นการทดสอบที่ว่า ก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีนัก เมื่อยานต้นแบบ “สตาร์ชิป (Starship)” กลับระเบิดในเวลาแค่ 4 นาทีหลังจากปล่อยตัว แต่นั่นก็ไม่ได้ดับฝันของใครหลาย ๆ คน ที่ยังเชื่อมั่นถึงความเป็นไปได้ในการไปตั้งรกรากใหม่บนดาวอื่น ทำให้ยังมีทฤษฎีที่พูดถึงประเด็นออกมาให้เห็นมากมาย
⠀⠀⠀จนเมื่อไม่นานนี้ มีทีมวิจัยจากสหรัฐฯ ได้เสนอจำนวนตัวเลขของ “ประชากรตั้งต้น” ที่จำเป็นต่อการลงหลักปักฐานบนดาวอังคารในระยะยาว โดยตัวเลขที่มีการเสนอในครั้งนี้ ทุบสถิติด้วยจำนวนน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์เพียง 22 คนเท่านั้น!
ตัวเลข 22 นี้ มีที่มาอย่างไร?
⠀⠀⠀ข้อมูลตัวเลขต้องได้รับการเปิดเผยในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยนักวิทยาการคอมพิวเตอร์จากหลายสถาบันการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้โปรแกรมแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า Agent-Based Model (ABM) ทำการคำนวณเพื่อให้ทราบว่าจะต้องใช้คนเป็นจำนวนน้อยที่สุดเท่าใด และต้องใช้คนประเภทไหนบ้าง จึงจะสามารถก่อตั้งและนำพาอาณานิคมบนดาวอังคารให้อยู่รอดไปได้ในระยะยาว
โดยตั้งเงื่อนไขเป็นกลุ่มบุคคล 4 ประเภทตามบุคลิก และอาศัยเครื่อง ABM ในการจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์กลุ่มแรกต้องพบเจอในการตั้งรกรากบนดาวอังคาร
ผลการคำนวณพบว่า หากมนุษย์กลุ่มแรก เป็นกลุ่มบุคคลที่คล้อยตามผู้อื่นได้ง่าย ไม่ชอบความขัดแย้งหรือการแก่งแย่งแข่งขัน อยู่ร่วมกับกลุ่มบุคคลที่เข้าสังคมเก่ง มีบุคลิกเปิดเผยและทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดี จะสามารถก่อตั้งอาณานิคมและพัฒนาบ้านหลังใหม่ให้อยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน โดยใช้กำลังคนเพียง 22 คนเท่านั้น
⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม ผลการคำนวณนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในเวลาต่อมา โดยดร. ฌอง มาร์ก ซาลอตติ จากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีการบินอวกาศ IMS ของฝรั่งเศส ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอแนวคิดการใช้ประชากรตั้งต้น 110 คน เพื่อสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร ได้แสดงความเห็นว่า การใช้ประชากรเพียง 22 คนนั้น น้อยเกินไปสำหรับการบริหารจัดการอาณานิคมให้เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโลก พวกเขาจะอยู่รอดในระยะเวลาสั้น ๆ และไม่อาจพัฒนาอาณานิคมหรือเพิ่มจำนวนประชากรได้
แต่ไม่ว่าจะต้องใช้ประชากรตั้งต้น 22 คน หรือ 110 คน สิ่งสำคัญที่อาจจะต้องคำนึงตามมาคือ—
มนุษย์พร้อมหรือยังสำหรับการย้ายอาณานิคม?
⠀⠀⠀คำตอบของคำถามนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเป็นตัวกำหนด หากถามว่าพร้อมไหมสำหรับตอนนี้ ก็คงตอบได้เต็มปากเลยว่า “ยังไม่พร้อม” เมื่อในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ยังไม่เคยมีมนุษย์เดินทางไปถึงและลงเหยียบพื้นผิวสีแดงของดาวอังคารเลยสักคน
เราอาจต้องเปลี่ยนคำถามเป็นอะไรที่ยืดหยุ่นกว่านี้อีกสักหน่อย อย่าง “แล้วเมื่อไหร่ถึงจะพร้อม?” ก็พอจะมีคำตอบที่น่าชื่นใจอยู่บ้าง จากบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์เซอร์คาน เซย์ดัม ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์และศูนย์วิจัยวิศวกรรมอวกาศของออสเตรเลีย กล่าวถึงเรื่องการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารว่า ความใฝ่ฝันอันน่าเหลือเชื่อของอีลอน มัสก์ ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียว โดยศ. เซย์ดัมเชื่อมั่นว่า ภายในปี 2050 มนุษย์จะมีอาณานิคมต่างดาวในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งบนดาวอังคารอย่างแน่นอน
ศ. เซย์ดัมเสนอแนวคิด การขุดเจาะหาแหล่งน้ำซึ่งอาจได้มาจากน้ำแข็งในแอ่งหลุมลึกต่าง ๆ หรือใช้วิธีสกัดจากแร่ธาตุใต้พื้นดินที่มีโมเลกุลอุ้มน้ำบนดาวอังคาร ซึ่งจะนำไปทำการเกษตรเพื่อเพาะปลูกพืชเป็นอาหารเลี้ยงประชากรในอาณานิคมต่างดาวต่อไป นอกจากนี้เรายังสามารถสกัดไฮโดรเจนจากน้ำแข็งและแร่ธาตุบนดาวอังคาร เพื่อนำมาเป็นพลังงานและเป็นเชื้อเพลิงขับดันจรวดหรือยานอวกาศได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ศ. เซย์ดัมมองว่ามนุษย์ที่โยกย้ายไปอยู่อาศัยที่ดาวอังคาร ไม่อาจจะดำรงชีวิตโดยพึ่งพาแต่ทรัพยากรที่มีอยู่เฉพาะบนดาวเคราะห์สีแดงนี้เท่านั้น จะต้องพึ่งพาอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ส่งไปจากโลกเป็นหลักอยู่ดี
ถึงอย่างนั้น บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังมีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ในเรื่องการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร โดยมีหลายคนเห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะเดินหน้าแผนการนี้ให้สำเร็จภายในปี 2050 ด้วยเหตุผลที่ว่า—
สภาพแวดล้อมบนดาวอังคารในตอนนี้ ยังไม่เอื้อให้มนุษย์อยู่อาศัย
⠀⠀⠀แม้เราจะได้ยินบ่อยครั้งว่า ดาวอังคารมีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับโลก ทั้งการเป็นดาวเคราะห์ที่ขนาดเล็กกว่าแต่มีพื้นที่อยู่อาศัยพอ ๆ กันกับโลก เวลาในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง 39 นาที ทำให้มนุษย์แทบไม่ต้องปรับนาฬิกาชีวิต รวมถึงแกนเอียงของดาวอังคารยังใกล้เคียงกับโลก ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าบนดาวอังคารสามารถมีฤดูกาลที่ไม่ต่างจากโลกมากนัก และที่สำคัญคือเรายังพบอีกว่าในบางฤดูกาลเรายังพบแหล่งน้ำบนดาวอังคารอีกด้วย
แต่เหล่านี้ก็เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีความจริงอีกหลายข้อเกี่ยวกับเจ้าดาวเคราะห์สีแดงที่เราต้องคำนึงเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น
ดาวอังคารมีอุณหภูมิต่ำมาก เฉลี่ยอยู่ที่ -60 องศาเซลเซียส ต่างจากโลกที่อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียสเท่านั้น
บนดาวอังคารมีความดันอากาศต่ำ และเกือบ 90% เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมนุษย์เราไม่สามารถหายใจเข้าไปในปริมาณมากได้
ดาวอังคารมีความโน้มถ่วงน้อยกว่าโลก ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของมนุษย์
พื้นผิวดาวอังคารส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงเสียเยอะ ยากต่อการตั้งถิ่นฐาน หรือแม้แต่การสำรวจก็ทำได้ยากเช่นกัน
⠀⠀⠀และถึงแม้วิทยาการหรือเทคโนโลยีของเราในอนาคต จะสามารถแก้ไขข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมเหล่านี้บนดาวอังคารได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสร้างโดมครอบ หรือการระเบิดขั้วน้ำแข็งให้ไนโตรเจนปกคลุมชั้นบรรยากาศเกิดเป็นก๊าซเรือนกระจกเพื่อปรับอุณหภูมิ แต่การจะขนย้ายมนุษย์ไปยังดาวอังคารในแต่ละครั้งนั้นก็ต้องใช้เวลาถึง 8 เดือนเป็นอย่างต่ำ นั่นก็นับเป็นข้อควรคำนึงอีกเรื่องเช่นกัน
⠀⠀⠀จากข้อมูลและงานวิจัยที่เรามีในปัจจุบัน อาจพูดไม่ได้อย่างมั่นใจนักว่ามนุษยชาติจะสามารถไปตั้งอาณานิคมต่างดาวได้ในเร็ววันนี้ แต่ความก้าวหน้าของวิทยาการที่มาถึงในจุดที่หลายประเทศสามารถส่งยานขึ้นไปสำรวจยังดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะของเราได้นั้น ก็นับว่าเราเดินทางมาไกลและรวดเร็วกว่าที่ในอดีตเคยคาดการณ์ไว้มาก ไม่แน่ว่าในปีค.ศ. 2050 ที่อีลอน มักส์ตั้งเป้าหมายไว้นั้น เราอาจได้เห็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางไปอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์เพื่อนบ้านสีแดงนี้จริง ๆ ก็เป็นได้
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #อาณานิคมต่างดาว #ดาวอังคาร
ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/articles/c6pdn7z1r94o