⠀สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ หรือสัตว์ทดลอง คือ สัตว์ที่ถูกมนุษย์นำมาใช้ศึกษาหรือทดสอบสิ่งต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตหรือความเป็นอยู่ของทั้งมนุษย์และสัตว์ รวมถึงเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ไม่อาจได้มาด้วยวิธีการอื่น ๆ ถือเป็นด่านหน้าที่อยู่คู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยทางการแพทย์มานับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณเรื่อยมาถึงปัจจุบัน จนกลายมาเป็นคำเปรียบเปรยจากภาพจำในภาษาไทย อย่าง ‘หนูทดลอง’
.
.
แต่แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากเป็น ‘หนูทดลอง’
⠀⠀⠀หนูอาจเป็นสัตว์ที่ถูกใช้ในการทดลองบ่อยที่สุด แต่ก็ยังมีสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่มีชะตากรรมเดียวกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกระต่าย นก แมว สุนัข หรือลิง ซึ่งสัตว์ทดลองเหล่านี้ ส่วนมากถูกเพาะพันธุ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดลองโดยเฉพาะ เพราะต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาสายพันธุ์และควบคุมตัวแปรให้มากที่สุดให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้
แม้ความเสียสละของเพื่อนตัวจิ๋วทั้งหลาย จะนำมาสู่คุณูปการทางด้านความรู้อย่างมหาศาล แต่นั่นก็แลกมาความเจ็บปวดและชีวิตของสัตว์มากมายนับไม่ถ้วน เพียงแค่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการใช้สัตว์ทดลองถึงประมาณ 17 - 22 ล้านตัวต่อปีเลยทีเดียว
⠀⠀⠀‘จริยธรรมในการวิจัย’ ที่ใช้สัตว์ทดลองเป็นเครื่องมือ จึงเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงและถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 จนล่วงเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 20 ที่ประเด็นนี้ดูจะกลายเป็นข้อถกเถียงที่ระอุขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งเริ่มมองเห็นทางเลือกอื่น ๆ ที่บางที “อาจไม่ต้องมีใครเจ็บตัวอีกต่อไป” ก็ได้
.
.
เพราะสัตว์อาจ ‘ไม่ใช่ตัวทดลองที่เวิร์ค’
⠀⠀⠀ข้อโต้แย้งสำคัญในการรณรงค์ให้เลิกทดลองในสัตว์นั้น มาจากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยว่า มีหลายครั้งที่การทดลองในสัตว์ให้ผลลัพธ์ไม่ตรงต่อความต้องการ อาทิ การทดสอบที่ประสบความสำเร็จในสัตว์ทดลอง แต่กลับไม่ได้ผลในมนุษย์ ประกอบกับข้อมูลเชิงสถิติพบว่า แม้จะผ่านการทดลองมาแล้วในสัตว์มาแล้ว แต่การทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นมนุษย์กลับล้มเหลวถึง 92% อีกทั้งบางครั้งยังปรากฎผลข้างเคียงร้ายแรงหลายชนิด ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากสัตว์ทดลองอ้างอิงได้ทั้งหมด
.
.
แล้วอะไรคือทางเลือกที่ ‘น่าจะ’ เวิร์ค
⠀⠀⠀น่ายินดีที่ความก้าวหน้าทางวิทยาการได้พาเรามาถึงจุดที่สามารถ ‘สร้าง’ ทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถทดแทนการทดลองในสัตว์ ซึ่งมีบางส่วนได้เริ่มใช้งานจริงและมีแนวโน้มจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเสียด้วย อาทิ
● ‘ชิปเซลล์มนุษย์’ (Organ-on-a-chip) คือชิปสามมิติขนาดเล็กสร้างขึ้นจากเซลล์และเนื้อเยื่อของมนุษย์ มีหน้าที่ทำงานเหมือนอวัยวะขนาดเล็ก นำมาใช้ตรวจสอบการตอบสนองต่อยาหรือสารเคมีต่าง ๆ ของมนุษย์ได้
● ‘อวัยวะจิ๋ว’ (Organoids) คือกลุ่มเซลล์ที่เพาะขึ้นในห้องแล็บ โดยสร้างขึ้นจากม้ามของสัตว์ ซึ่งจะสามารถทำงานได้คล้ายอวัยวะที่มีขนาดเล็ก เป็นทางเลือกในการใช้ทดสอบวัคซีน
● ‘เนื้อเยื่อ 3 มิติ’ คือการพิมพ์เนื้อเยื่อจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างอวัยวะขนาดจิ๋วที่มีโครงสร้างแบบเดียวกัน แล้วนำมาใช้ในการทดสอบยา
● ‘โปรแกรมจำลองผลลัพธ์’ คือการใช้การจำลองของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สามารถคาดการณ์ผลกระทบตากยาหรือสารเคมีแต่ละชนิดที่จะส่งผลกระทบต่อคนเราได้แม่นยำยิ่งขึ้น
.
.
⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าในบางกรณี การทดลองในสัตว์ก็ยังมีความจำเป็นกับการวิจัยด้วยหลาย ๆ ปัจจัย แต่การที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของจรรยาบรรณในการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทำให้เราได้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และเห็นถึงความพยายามของนักวิจัยบางกลุ่มที่ตั้งใจคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาทดแทนสัตว์ทดลอง
ซึ่งถึงแม้การยกเลิกใช้สัตว์ทดลองอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์อาจไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่การได้เห็นแนวโน้มที่ลดลงในทุกวัน ก็นับว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #สัตว์ทดลอง #การทดลองในสัตว์ #laboratoryanimals
ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก
https://www.thaipbs.or.th/news/content/327033
https://culac.chula.ac.th/academic-news/162575434686
https://www.posttoday.com/people-behavior/up-coming/1468
https://thematter.co/scie.../the-end-of-animal-testing/46526