ส่องปรากฏการณ์ ‘#ฝนดาวตกวันแม่’ ที่ 1 ปี มีครั้งเดียว !!

ส่องปรากฏการณ์ ‘#ฝนดาวตกวันแม่’ 

ที่ 1 ปี มีครั้งเดียว !!

_______________

สิงหาคมของทุกๆปี ก็เริ่มเข้าสู่ช่วงสำคัญสำหรับเหล่านักดูดาวทั้งหลาย แต่สำหรับบางคน ในเดือนสิงหาวันที่สำคัญสำหรับคนไทยเรานั้นก็คือ #วันแม่แห่งชาติ แต่รู้กันหรือไม่... ว่าในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ นอกจากจะเป็นวันแม่ ก็ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า “ฝนดาวตกเพอร์เซอิด” หรือ #ฝนดาวตกวันแม่ ที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำในทุกๆปีอีกด้วย !! 

STeP อยากพาทุกคนมารู้จักกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่ใครหลายๆคนอาจยังไม่เคยได้ยินชื่อนี้กันเลยด้วยซ้ำ ตามมาดูกัน... 

.

ฝนดาวตกคืออะไร? 

ฝนดาวตกไม่ใช่ดาวที่ตกลงมารัว ๆ เหมือนเวลาฝนตก แต่มันคือ ปรากฎการณ์ที่คนบนโลกจะสามารถมองเห็นแนวเส้นสว่างมากมายอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืนเป็นระยะ ๆ ซึ่งจะมีอัตราการตกเป็นจำนวนดวงต่อชั่วโมง  และถ้ายิ่งอัตราการตกเยอะเราก็มีโอกาสที่จะเห็นดาวตกในช่วงเวลานั้นเยอะขึ้นนั่นเอง เว้นแต่ว่าเราจะอาศัยอยู่ในเมืองที่มีแสงไฟจากตึก บ้านช่องหรือแสงไฟจากถนนที่เปล่งแสงสู้กับแสงของการลุกไหม้ของหินอวกาศ จนเรามองไม่เห็นดาวตกเลย

.

ฝนดาวตกเกิดขึ้นได้อย่างไร? 

ฝนดาวตก เกิดขึ้นจากการที่โลกโคจรฝ่าเข้าไปในกลุ่มฝุ่นอุกกาบาตน้อยใหญ่ ซึ่งส่วนมากจะกำเนิดมาจาก #ดาวหาง ที่โคจรผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน และทิ้งกลุ่มฝุ่นอุกกาบาตตามแนวทาง ดาวหาง จะมีส่วนที่เรียกว่า นิวเคลียส ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 0.5 กิโลเมตรจนถึง 50 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยหินแข็ง ฝุ่น น้ำแข็ง และแก๊สแข็ง เมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้ามาในระบบสุริยะชั้นในเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะทำให้น้ำแข็งและแก๊สแข็งระเหิดกลายเป็นไอ และขณะเดียวกันนั่นก็มีเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กของดาวหางถูกสลัดทิ้งไว้ตามทางโคจร เรียกว่า “ธารสะเก็ดดาว”

การที่โลกของเราเคลื่อนที่เข้าตัดหรือเคลื่อนที่เข้าใกล้กับเส้นทางของธารสะเก็ดดาวที่มีทั้งเศษฝุ่น เศษชิ้นส่วนขนาดเล็ก จนถึงเศษชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของดาวหางที่ได้ทิ้งเอาไว้ขณะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งเศษชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ  เกิดเป็นลำแสงวาบขึ้นให้เห็นตอนกลางคืน เราจึงจะเห็นดาวตก ตกลงมามากเป็นพิเศษ 

.

.

#ฝนดาวตกวันแม่ 

ฝนดาวตกวันแม่ หรือ ฝนดาวตกเพอร์เซอิด (Perseids Meteor Shower) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกๆปี ซึ่งจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม ฝนดาวตกวันแม่ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ อีกทั้งยังมีสีสันสวยงาม ซึ่งเกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร และตกเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเรา จากนั้นจะเกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า ปรากฏเป็นเส้นพุ่งออกจากกลุ่มดาวเพอร์เซอุส ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่มีผลกระทบต่อโลก

.

ทำไมต้องเรียกว่า #ฝนดาวตกวันแม่ ? 

เนื่องจากอัตราการตกของฝนดาวตกวันแม่ จะมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 12-13 สิงหาคมของทุกๆปี จึงได้รับสมญานามว่า ฝนดาวตกวันแม่ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ NARIT ได้มีการวิเคราะห์และคาดว่าฝนดาวตกวันแม่จะมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ในช่วงเวลา เที่ยงคืนของวันที่ 12 ตลอดจนเช้ามืดของวันที่ 13 สิงหาคม ถึงเวลาประมาณ 2:00 น. ซึ่งจะมีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเวลาที่ปราศจากแสงจันทร์รบกวนหรือในเวลาที่ฟ้ามืดสนิท 

.

แล้วทำไมถึงเรียกว่า เพอร์เซอิด (Perseids) 

ชื่อ Perseid ถูกตั้งขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี  Giovanni V.Schiaparelli เมื่อปี คศ.1866 โดยให้ชื่อนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มดาว ที่อยู่ใกล้เคียงกับจุด radiant หรือจุดเสมือนแหล่งกำหนดของดาวตก นั่นก็คือกลุ่มดาวเจ้าชายเปอร์เซอุส (Perseus) โดยที่ Schiaparelli สังเกตว่าจุด radiant ของฝนดาวตกนี้ใกล้เคียงกับ แนวการเคลื่อนที่ของดาวหาง 109P/ Swift-Tuttle ซึ่งเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในเมื่อปี คศ.1862 นั่นเอง

.

.

เทคนิคชมฝนดาวตกแบบจุใจ !! 

 ดูในที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน 

เลือกสถานที่โปร่ง โล่ง ที่ห่างไกลจากแสงเมือง เช่น ภูเขา ทะเล หรือลานกว้าง

นอนชมได้ด้วยตาเปล่า จะช่วยให้มองเห็นในมุมกว้างและชัดเจนที่สุด

เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น เก้าอี้สำหรับเอน , เสื่อ หมอน หรือผ้าห่ม 

ศึกษาหรือติดตาม ตำแหน่งของกลุ่มดาวก่อน เพื่อรู้จักทิศทางของศูนย์กลางกระจาย

เลือกมองไปทางท้องฟ้าฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ 

เลือกช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป

.

.

แน่นอนว่านอกจาก ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (ฝนดาวตกวันแม่) จะมีให้ชมกันในวันนี้แล้ว ก็ยังมีปรากฏการณ์อีก 3 อย่างที่น่าติดตามดูในเดือนสิงหาคมนี้ ก็คือ 

#ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกัลกรุงเทพฯ 

16 สิงหาคม  ในช่วงเวลา 12.22 น. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาตั้งฉากกับกับพื้นโลก เป็นครั้งที่ 2 หรือเรียกกันว่า ดวงจันทร์ดับ  สังเกตได้ง่ายๆจาก วัตถุที่อยู่กลางแดดจะดูเหมือนไร้เงา เนื้องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี

#ดาวเสาร์โคจรใกล้โลกที่สุดในรอบปี !! 

27 สิงหาคม ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี  ห่างจากโลกประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะสังเกตได้จากทางทิศตะวันออก ดาวเสาร์จะสว่างสว่างยาวนานตลอดทั้งคืนจนถึงตอนเช้า

#SuperBlueMoon 

30-31 สิงหาคม ปรากฏการณ์ซูเปอร์บลูมูน  คือ ดวงจันทร์เต็มดวงที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และบลูมูน ที่ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน ซึ่งปกติจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงเพียงคัร้งเดียวเท่านั้น

.

.

ใน #วันแม่ ปีนี้ หากใครยังไม่รู้จะทำกิจกรรมอะไร ลองชวนคุณแม่มาตั้งแคมป์ นอนดูฝนดาวตกวันแม่กันได้นะ  มาสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ที่ใน 1 ปีมีแค่ครั้งเดียว !! หรือถ้าใครที่ไม่ได้ออกจากบ้าน ก็ยังมีโปรแกรม Virtual Telescope Project ให้ได้ดูฝนดาวตกแบบเสมือนจริงในหลากหลายช่องทาง เช่น McDonald Observatory และ www.virtualtelescope.eu ด้วยนะ 

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #วันแม่แห่งชาติ #ฝนดาวตก 

#ฝนดาวตกวันแม่ #ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ #ดาราศาสตร์ #ดาวเสาร์ใกล้โลก #ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก #Superbluemoon  

ขอบคุณที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)