เบาได้เบา ไม่งั้นจะเป็น ‘เบาหวาน’!

เบาได้เบา ไม่งั้นจะเป็น ‘เบาหวาน’!

____________


“พี่คะ ขอหวานน้อยค่ะ” ประโยคยอดฮิตของเราชาวออฟฟิศ.. ด้วยวิถีของคนที่รักสุขภาพ นาทีนี้ คงต้องสั่งหวานน้อยกันจนติดเป็นนิสัย


หลาย ๆ คนอาจเชื่อว่า “เบาหวาน” นั้น เกิดมาจากการรับประทานอาหารที่มีความหวานเพียงอย่างเดียว! แต่แท้ที่จริงแล้วเบาหวานก็มีอีกหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งปัจจุบัน เบาหวานหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็กลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยไปไม่น้อยในแต่ละปี เพราะนอกจากจะไม่ค่อยแสดงอาการแล้ว ใครๆก็ยังสามารถเป็นได้อีกด้วย...

เนื่องใน #วันเบาหวานโลก STeP จะพามารู้จักกับร่างกายของเราให้มากขึ้นว่า ทำไมร่างกายคนเราถึงต้องการความหวาน? กินหวานแล้วช่วยอะไร? ในเมื่อหวานเกินไปก็ไม่ดี! แล้วหวานแค่ไหนถึงจะพอดี? โรคเบาหวานกับคนไม่กินหวาน? ถ้าสั่ง #หวานน้อย จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้จริงหรือ??




โรคเบาหวานคืออะไร?


เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติในการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน ซึ่งจะทำให้การผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอที่จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกตินั่นเอง และยังเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการรับประทานรสหวานเพียงอย่างเดียวอีกด้วย



ชนิดของเบาหวาน?


  •  เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM)

“ขาดอินซูลิน” เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลินและไม่สามารถหลั่งอินซูลินได้เลย ซึ่งมักพบในเด็ก


  •  เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T1DM)

“ดื้ออินซูลิน” เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายขาดอินซูลินและทดแทนโดยการสร้างมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ตับทำงานหนักขึ้นจนทำงานไม่ไหว กลายเป็นอินซูลินไม่เพียงพอนั่นเอง เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน ความอ้วน การไม่ออกกำลังกาย และพันธุกรรม


  •  เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM)

เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เกิดในผู้ที่ไม่มีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วเบาหวานก็จะหายไป แต่คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นเบาหวานได้อีกในอนาคต


  •  เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes)

มักเริ่มจาก การเกิดโรคเกี่ยวกับตับเป็นหลัก เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน ตับอักเสบ โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น ซึ่งเป็นความผิดปกติของร่างกายที่สงผลมาสู่การเป็นโรคเบาหวานได้นั่นเอง


โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 ประมาณการของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมากถึง 2 ล้านคน ที่ไม่ทราบว่าตนเองป่วยและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และมีผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานถึง 7.7 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่า #โรคเบาหวานไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป!




อะไรที่ทำให้เป็น “เบาหวาน” แบบไม่รู้ตัว?


“พันธุกรรม” และ “พฤติกรรม

ทั้งสองอย่างมีสิทธิ์ทำให้เราเป็นเบาหวานได้ทั้งคู่ ซึ่งเมื่อมีพันธุกรรมแล้ว ใครสักคนจะเป็นเบาหวานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรม!!

โดยพฤติกรรมที่ว่า ก็คือ 


  •  การรับประทานอาหาร “You are what you eat”

การทานอาหารแปรรูป อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ทั้งนั้น

  •  ลักษณะกิจกรรมการใช้ชีวิต

มีลักษณะนั่งโต๊ะเป็นหลัก มีการขยับร่างกายน้อย เรียกว่า “Sedentary Lifestyle” เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือด ใช้พลังงานน้อย ทำให้เหลือพลังงานสะสมเยอะจนเกิดเป็นโรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงเบาหวานได้ในที่สุด

  •  การสูบบุหรี่

ทำให้ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการสร้างอินซูลินเสื่อมเร็วขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานอีกด้วย

  •  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้อ้วนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คนที่ดื่มปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบฉับพลัน กลายเป็นเบาหวานได้ไม่รู้ตัว

  •  ความเครียดและการอดนอน

ความเครียดจะเกิดการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติและผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่งผลร้ายต่อทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตใจ

  •  พฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายอ้วนขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเกินความจำเป็น ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายน้อย เมื่อเราอ้วนขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน เกิดเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน




ทำไมร่างกายคนเราถึงต้องการ “ความหวาน”?


#ความหวาน เป็นตัวแทนของความสุขที่หลายคนนิยามไว้ แต่ในความหมายทางวิทยาศาสตร์และโภชนาการ น้ำตาล หรือ ความหวาน จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกายเรา หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมก็จะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

นายแพทย์อรุณ คงชู อธิบายว่า คนเราจะมีอาการอยากของหวานอยู่บ่อยๆ ซึ่งเรียกว่า “Sugar craving” เป็นภาวะที่ร่างกายอยากทานของหวาน  ซึ่งจะถูกแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  •  กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน 

คนที่มีน้ำตาลต่ำจากภาวะต่างๆ เช่น การรักษาเบาหวานด้วยยาบางชนิด คนที่มีอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เผาผลาญน้ำตาลเยอะไป น้ำตาลหรือฮอร์โมนบางตัวต่ำ เป็นต้น

  • ภาวะ Sugar craving 

หรืออาการอยากของหวาน มักจะเกิดจากอารมณ์ ความรู้สึกที่อยากจะทานของหวาน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีน้ำตาลต่ำ พอได้รับของหวานแล้วจะทำให้มีความรู้สึกดีมากขึ้น ร่างกายจะมีการเรียนรู้ว่าทำแบบนี้แล้วรู้สึกดีขึ้น จนติดเป็นนิสัยนั่นเอง



กินหวานช่วยอะไร ?

  •  เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
  •  เป็นแหล่งพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน
  •  น้ำตาลช่วยลดความเครียดได้
  •  ช่วยดับร้อน ถอนพิษ แก้อาการอักเสบ
  •  ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
  •  ช่วยบรรเทาอาการปวดได้




แล้วหวานแค่ไหนถึงจะพอดี ?


คนเราควรได้รับน้ำตาลเฉลี่ยแล้ววันละไม่เกิน 6 ช้อนชา สำหรับคนที่ต้องการพลังงาน 2,000 แคลอรี่ ตามหลักโภชนาการ ทั้งนี้สามารถยืดหยุ่นให้เหมาะสมต่อพลังงานที่ได้รับได้ แต่ทางที่ดีควรทานน้ำตาลให้น้อยที่สุด

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า น้ำตาลที่เติมไปในอาหาร ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้คนเราได้รับพลังงานไม่เท่ากัน จึงต้องมีการควบคุมปริมาณน้ำตาล รวมถึงออกกำลังกายให้พอเหมาะนั่นเอง




 การสั่งหวานน้อย ช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้จริงหรือ ?


รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ อธิบายว่า การที่เราสั่งหวานน้อยนั้น เป็นการช่วยลดโหลดแคลอรีที่จะเข้าสู่ร่างกาย คนแต่ละคนต้องการพลังงานไปใช้ไม่เท่ากัน ถ้าเราสั่งอาหารหวาน เราทานไปนิดเดียวจะได้พลังงานเกิน พอพลังงานเกิน ร่างกายกำจัดไม่ได้ หรือใช้ไม่ทัน ก็จะเกิดการสะสม แล้วเกิดการเป็นเบาหวานหรือเกิดความอ้วนขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราสั่งอาหารหวานน้อย เท่ากับเรามีโอกาสที่จะไปทานอาหารอื่นๆ ที่มีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น ลดโหลดที่ได้จากน้ำตาล ลดพลังงานที่จะเป็นส่วนเกิน โอกาสที่จะเป็นเบาหวานก็จะลดลง ส่วนการเลือกนมหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่มี low fat  หมายถึง เรากำลังเลือกอาหารที่มีพลังงานน้อย เพราะฉะนั้นการที่เราไม่โหลดร่างกายให้มีพลังงานเกินความจำเป็น โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานก็จะลดลงนั่นเอง


รวมถึงปัจจุบัน ยังมี สารให้ความหวานแทนน้ำตาล น้ำตาลเทียม น้ำตาลที่สกัดได้จากธรรมชาติ พืชที่สามารถสกัดมาทำน้ำตาลได้ อาทิ บีตรูต ข้าวโพด เมเปิล ผลปาล์ม หญ้าหวาน ซึ่งนอกจากจะนำมาปรุงรสชาติให้อร่อยกลมกล่อมแล้ว ยังมีประโยชน์และสำคัญต่อร่างกายของเราด้วย




How to? ดูแลตัวเองเลี่ยงเบาหวาน !


  •  หมั่นตรวจสุขภาพ เช็คน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
  •  เลือกทานอาหารที่ดี สารอาหารครบ5หมู่
  •  ลดการทานน้ำตาล กินในปริมาณที่พอเหมาะ
  •  เพิ่มใยอาหาร ทานผักใบเขียว
  •  รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
  •  ออกกำลังกายเป็นประจำ
  •  ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
  •  งดสูบบุหรี่ 
  •  งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์
  •  พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน หรือเครียดมากเกินไป




อย่ามองว่า “เบาหวาน” เป็นเรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป! เพราะมันอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่เราคิด และยังเป็นภัยเงียบที่ไม่รู้ตัวอีกด้วย กว่าจะรู้ตัวก็อาจเป็นไปแล้วก็ได้... สุขภาพเรานั้นสำคัญที่สุด หมั่นตรวจเช็คสุขภาพ ลดหวาน ทานให้พอดี และออกกำลังกายกันด้วยนะ



#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #Healthy #Healthcare #WorldDiabetesDay #วันเบาหวานโลก #เบาหวาน #โรคเบาหวาน #น้ำตาล #ติดหวาน #ลดน้ำตาล #สุขภาพ 



ขอบคุณที่มา :

hellokhunmor

Rama Channel 

Chulalongkornhospital