IA คืออะไร ? เทรนด์ใหม่ปัญญาประดิษฐ์ ที่ไม่ได้มาเพื่อ ‘แย่ง’ แต่ช่วย ‘แบ่งเบา’

IA คืออะไร ? 
เทรนด์ใหม่ปัญญาประดิษฐ์ 
ที่ไม่ได้มาเพื่อ ‘แย่ง’ แต่ช่วย ‘แบ่งเบา’ 

________________



⠀⠀⠀เพิ่งเริ่มสนิทกับ AI ได้ไม่ทันไร ก็มีสิ่งใหม่มาให้เราต้องทำความรู้จักกันอีกแล้ว นับเป็นยุคทองของ AI จริง ๆ หลังถูกเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการในรูปแบบสาธารณะ จนสร้างการตื่นตัวให้มนุษยชาติ ทั้งในแง่การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ ไปจนถึงความวิตกกังวลจากการถูกแย่งงานโดยปัญญาประดิษฐ์ 


แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา มนุษย์เราก็ได้มองเห็นว่า AI เองก็ยังมีข้อจำกัดและไม่ได้เก่งขนาดนั้น จึงเกิดเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ AI ใช้ประโยชน์จากมัน ให้กำเนิดอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI จนผลักดันไปสู่เทรนด์ใหม่ของปัญญาประดิษฐ์ ที่เปลี่ยนเป้าหมายจากเข้ามาแทนที่เป็นการช่วยให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ในชื่อ IA (Intelligence Augmentation) 




IA คืออะไร ? ต่างจาก AI อย่างไร ? 


⠀⠀⠀IA หรือ Intelligence Augmentation ไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีที่มีตัวตนเป็นรูปธรรม แต่เป็น ‘แนวคิด (Concept)’ ในการใช้งานหรือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ไปสู่การทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ช่วย’ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความอัจฉริยะให้กับมนุษย์ เรียกง่าย ๆ ว่าหากพูดถึง IA ก็จะหมายถึง AI ที่มีไว้เพื่อเป็นตัวช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้น คิด-วิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้น และตัดสินใจได้ดีขึ้นนั่นเอง 


เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอเสริมด้วยการเปรียบเทียบกับ AI ตามรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งเมื่ออ้างถึง AI (Artificial Intelligence) หรือที่เราเรียกกันว่าปัญญาประดิษฐ์นั้น มักจะหมายถึงเครื่องจักรกลที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีความฉลาดทัดเทียมมนุษย์ สามารถทำงานด้วยตัวเองได้ในระดับเดียวกันหรือเหนือกว่าที่เราทำได้ โดยตัดแรงงานมนุษย์ออกจากกระบวนการได้สิ้นเชิง 


ขณะที่ปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่ม IA จะมุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนงานของมนุษย์มากกว่า พูดง่าย ๆ ว่า แทนที่จะพัฒนาไปให้ฉลาดแข่งกับมนุษย์ ก็ปรับมาเป็นการพัฒนาเพื่อช่วยให้มนุษย์ฉลาดขึ้น เก่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น 




ทำไมต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก AI เป็น IA ? 


⠀⠀⠀เหตุผลหลัก ๆ มีด้วยการสองประเด็นคือ 1) พัฒนาการที่รวดเร็ว แต่ผิดทางของ AI — ความเก่งกาจของ AI ทำให้มันพัฒนาตัวเองไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ตามมาด้วยความน่ากังวลใจของหลายฝ่ายที่มองว่า AI อาจกำลังพัฒนาไปผิดทาง จากเคสตัวอย่างมากมายที่ AI ชี้นำผู้ใช้งานแบบผิด ๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อมนุษยชาติในอนาคต การพัฒนา AI ไปสู่การเป็นผู้ช่วยจึงเป็นหนทางที่ปลอดภัยกว่านั่นเอง


และ 2) การขาดแคลนของทรัพยากร — ก่อนหน้านี้เราอาจจินตนาการถึงโลกที่มนุษย์ทุกคนมีหุ่นยนต์ AI ไว้ใช้งาน แต่สถานการณ์ของทรัพยากรในปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการสร้าง AI ในรูปแบบเครื่องจักรกลให้ประชากรทั้งโลกใช้งานได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การทำให้มนุษย์เก่งขึ้นด้วยตัวเองผ่านระบบ IA ซึ่งท้ายที่สุดอาจหลงเหลือเพียงชิปตัวเดียวที่ฝังในร่างกายเราก็ได้ 




IA ดีกว่า AI อย่างไร ? 


⠀⠀⠀อย่างที่ได้เกริ่นไปในหัวข้อ ว่า IA คือปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้มาเพื่อ ‘แย่ง’ แต่ช่วย ‘แบ่งเบา’ แน่นอนว่าการเข้ามาช่วยงานเพื่อทำให้เราเก่งขึ้น ย่อมดีกว่าการเข้ามาแทนที่


ยกตัวอย่าง การใช้ Generative AI ในงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งหากเราใส่โค้ดคำสั่งให้ AI เขียนนิยายทั้งเล่มโดยตัดนักเขียนออกไป เราก็อาจจะได้งานเขียนขึ้นมาเล่มหนึ่งที่คุณภาพอาจอยู่ในระดับที่พออ่านได้ แต่ไม่ได้แปลกใหม่หรือมีภาษาที่สละสลวยนัก ด้วยข้อจำกัดของ AI ที่อาศัยการสร้างสรรค์จากการดึงข้อมูลเก่า ๆ มาใช้ รวมถึง AI ก็ยังอยู่ในช่วงพัฒนา


แต่หากเราให้นักเขียนใช้งาน AI เป็นผู้ช่วยในกระบวนการทำงานต่าง ๆ อาทิ การหาข้อมูล การตรวจทานคำผิด หรือแม้กระทั่งการช่วยจดจำตัวละครและฉากต่าง ๆ เพื่อไม่ให้หลุดกรอบของเรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่สิ้นเปลืองเวลา หากสามารถตัดออกจากภาระงานของนักเขียนได้ เขาก็จะมีเวลามากขึ้นในการใช้ศักยภาพของตัวเองไปกับพล็อตเรื่องและภาษาได้อย่างเต็มที่ 




เราใช้ประโยชน์ IA ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง 


  • เป็นผู้ช่วยในการเรียนรู้ เช่น การใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR/ AR/ MR) ในการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ จำลองการผ่าตัด หรือจำลองการชนของรถ สิ่งนี้สามารถช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์โดยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง 


  • เป็นผู้ช่วยในการเข้าถึงและประมวลผลข้อมูล เช่น ระบบหลังบ้านที่ใช้ AI เข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้มนุษย์ประหยัดเวลาไปกับงานรูทีนได้มากขึ้นและผิดพลาดน้อยลง


  • เป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจ เช่น Chatbot ต่าง ๆ ที่ช่วยนำทางไปสู่การตัดสินใจของมนุษย์ ในข้อนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะการ ‘นำทาง’ ในมิติของ IA นั้น ไม่ใช่การให้คำตอบเพื่อชี้นำ แต่เป็นการตั้งคำถามให้มนุษย์ได้ทบทวนตัวเองเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การตอบคำถามและตัดสินใจด้วยตัวเอง (Don’t just tell me, but ask me why)


  • นอกจากนี้ ยังมี IA ซึ่งแฝงอยู่ในระบบอัตโนมัติหลายอย่างที่เราใช้งานกันในชีวิตประจำวัน อาทิ ระบบผู้ช่วยส่วนตัว เช่น Siri, Bixby, Alexa ระบบประมวลภาษา เช่น Google Translate, Grammarly ระบบตรวจจับการฉ้อโกงบัตรเครดิต ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ เป็นต้น 




⠀⠀⠀การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี IA ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งนอกจากการนำไปใช้ในการทำงานหลากหลายสาขาแล้ว IA ยังมีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้กับการทำความเข้าใจตัวเองของมนุษย์อีกด้วย IA เริ่มถูกพัฒนาให้จดจำและเรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนมากขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือกับตัวเราในอดีตหรืออนาคตได้ราวกับเป็นเพื่อนคู่คิดเลยทีเดียว 


____________


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #IA #IntelligenceAugmentation #ปัญญาประดิษฐ์ 


ขอบคุณแหล่งอ้างอิงจาก

https://www.blockdit.com/posts/63c0c690ebd8de825fb1b812

https://www.smartkarrot.com/resources/blog/ai-artificial-intelligence-vs-ia-intelligence-augmentation/